ทุกสังคมของทุกช่วงวัยทั่วโลกต่างก็มีปัญหากลั่นแกล้งรังแก… ปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ไปจนถึงปัญหาการคุกคาม และ อาชญากรรมทั้งที่มุ่งเป้าสวัสดิภาพต่อทรัพย์สินคนอื่น และหรือ ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของ “เหยื่อ” ซึ่งมีไม่น้อยที่เปลี่ยนอนาคตของคนๆ หนึ่งที่เคยเป็นเหยื่อให้อยู่กับฝันร้ายไปตลอดชีวิต
พูดถึงคีย์เวิร์ดคำว่าเหยื่อ… หลายคนที่สนใจปัญหาการถูกคุกคามก็คงรู้จัก Hashtag #Metoo บนสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งได้สะท้อนความคับข้องที่ “เหยื่อ” ออกมาบอกคนอื่นๆ ว่าฉันก็เคยเป็นเหยื่อในกรณีเดียวกันมาก่อน ตั้งแต่เหยื่อการกลั่นแกล้งรังแก หรือ Bullying… ไปจนถึงเหยื่อการคุกคามความสงบสุข… คุกคามทางเพศ หรือแม้แต่คุกคามชีวิตจิตใจแบบต่างๆ ซึ่งมีบางคนในหมู่ผู้คนมากมายที่เราไม่รู้จัก… อาจเคยเป็นเหยื่อของเหตุการณ์บางอย่างที่เลวร้ายกับเขาปนอยู่เสมอ แถมยังมี “เหยื่อ” บางส่วนถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุให้ตัวเองต้องตกอยู่ในสภาพของเหยื่อเสียเอง
เช่นในกรณีของเหยื่อการข่มขืนที่บ่อยครั้งเราได้เห็นการต่อว่าเหยื่อแต่งตัวล่อแหลม ใช้ยาเสพติด หรือ เมามายให้ท่าเอง… ซึ่งในสังคมในยุคอินเตอร์เน็ต 2.0 ที่เติบโตบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เราได้เห็นการกล่าวโทษเหยื่อแบบที่เรียกว่า Victim Blaming ซึ่งซ้ำเติมเหยื่อให้อัดอั้นกล้ำกลืนไปชั่วชีวิตก็มี
ในหนังสือ The Ideal Victim ของผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาชาวนอร์เวย์ชื่อ Nils Christie ได้พูดถึงคำว่า Ideal Victim หรือ เหยื่อในอุดมคติ… ซึ่งมักจะถูกด่วนสรุปแบบเหมารวม หรือ Stereotype เรื่องต่างๆ โดยอัตโนมัติ… โดยบ่อยครั้งที่เป็นการด่วนสรุปทั้งๆ ที่รับรู้ข่าวสารเพียงเศษชิ้น ที่ได้จากสื่อสารมวลชน และหรือ สื่อสังคมออนไลน์ และ ผลักให้เหยื่อถูกเข้าใจเหมารวมว่าจะต้องมีลักษณะเป็นเหยื่อในอุดมคติเท่านั้น เช่น เหยื่อคดีข่มขืนจะต้องอ่อนแอ บอบบาง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ร้องไห้ด้วยความกลัวตัวสั่นงันงก… ซึ่งเป็นมายาคติที่สังคมคาดหวังว่าเหยื่อเป็นแบบนั้น และ ถ้าผิดไปจากนั้น เช่น ขึ้นโรงพักแจ้งความทันที นัดแถลงข่าวสื่อมวลชน… สังคมส่วนหนึ่งก็จะตั้งคำถามว่าเอ็งเป็นเหยื่อ หรือ ว่าคนที่เอ็งแจ้งความเขาเป็นเหยื่อกันแน่?
Nils Christie อธิบายว่า… Ideal Victim หรือ เหยื่อในอุดมคติ มักจะเป็นบุคคลที่มีลักษณะอ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น ผู้หญิง… เด็ก… คนชรา… มีกิจวัตรกับอาชีพการงานเป็นที่ยอมรับในสังคม… ไม่อยู่ในที่อโคจรที่สุ่มเสี่ยง… ซึ่งการระบุลักษณะของเหยื่อในอุดมคตินี้ จะไม่ใช่การระบุเพื่อว่าคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสเป็นเหยื่อมากกว่าคนกลุ่มอื่น… แต่เป็นการระบุเพื่อทำความเข้าใจปฏิกิริยาสังคมต่อเหยื่อที่ถูกกระทำว่า เมื่อใดก็ตามที่เหยื่อมีลักษณะตรงกับเหยื่อในอุดมคติ สังคมมักไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม แต่กลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือ เป็นโชคร้ายของเหยื่อ
บทความของคุณสุภาวดี ไชยชลอ จาก Thairath Online หรือ Thairath Plus ชี้ว่า… การที่เรากล่าวโทษใครสักคนนั่นหมายความว่า… เรากำลังปัดความผิดให้ไกลจากตัวเรามากที่สุด ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น ทุกคนอยากมีชีวิตที่ดี ไม่มีใครอยากเผชิญกับความผิดพลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ มนุษย์จึงมีความเชื่อว่า “โลกนี้ยุติธรรม” จนใครทำเช่นใดก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น… ซึ่งเป็นแนวคิดว่าโลกยุติธรรม หรือ Just World อันเป็นความต้องการที่จะเชื่อว่า… โลกนี้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับใครไม่ว่าดีหรือร้าย ย่อมมีความคู่ควรแก่คนๆ นั้น ซึ่งนักจิตวิทยาสังคมมองว่า… ความเชื่อนี้เป็นอคติทางความคิด หรือ Cognitive Bias เพราะในความเป็นจริงแล้ว… การทำดีอาจไม่ได้ดี และการทำชั่วก็อาจไม่ได้รับโทษเสมอไป และ ความเชื่อแบบ “โลกนี้ยุติธรรม” ยังก่อให้เกิดพฤติกรรม Victim Blaming ด้วยการพยายามขุดคุ้ยประวัติของเหยื่อ รายละเอียดในเหตุการณ์ สืบเสาะและตั้งคำถามแปลกๆ เพื่อจะโทษได้ว่าผู้เสียหายเหล่านั้น “สมควรโดนแล้ว”
ที่อยากจะบอกก็คือ… Victim Blaming เป็นสาเหตุของความไม่ปกติสุขในชีวิตของคนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งความวุ่นวายในสังคมข้อมูลข่าวสารที่ทำลายหลายๆ อย่างในชีวิตของหลายๆ คนรอบด้าน… ทั้งคนที่เป็นเหยื่อเอง และ คนที่ทำตัวเป็นพวกรู้ดีทั้งที่โง่งมอยู่ในมายาคติทางความคิดของตัวเองเท่านั้น!!!
References…