ในทุกสัมพันธภาพ… ถ้าคู่ความสัมพันธ์ใส่ใจกันโดยต่างฝ่ายต่างก็รับรู้ว่าอีกฝ่ายใส่ใจ และ ระมัดระวังความสัมพันธ์ด้วยใจเป็นธรรม หรือ Fair Minded หรือ Virtuous Mind… ซึ่งการมีใจเป็นธรรมจะให้คุณค่า “ความจริง” สำคัญกว่าอัตตา และ ความคิดเห็น หรือ มุมมองของตนที่ขัดแย้งต่อข้อเท็จจริง แบบที่มีคนบางประเภทใช้ “ตรรกะวิบัติ” อธิบายบางเรื่องผ่านมุมมองอันเห็นแก่ตัวเองฝ่ายเดียว และ จบลงด้วยการทำลายความน่าเชื่อถือของตนอย่างน่าเสียดาย
ในหนังสือ Virtuous Minds: Intellectual Character Development ของ Philip E. Dow อธิบายเรื่องการเป็นคนมีใจเป็นธรรมว่า… คนมีใจเป็นธรรมคือคนที่อยากรู้ความจริงอย่างจริงจัง และ เต็มใจรับฟังความเห็นที่แตกต่างในเรื่องนั้นอย่างรอบด้าน… ก่อนจะให้ความเห็นของตนโดยหลีกเลี่ยงการตัดสิน และหรือ คำแนะนำบิดเบือนด้วยเหตุผลอื่น ทั้งๆ ที่ยังมี “ความจริง” เป็นทางเลือกที่ควรใส่ใจให้มากปรากฏอยู่
กรณีคลุมถุงชน… กรณีบังคับลูกหลานให้เรียนตามความฝันผู้ปกครอง… กรณีการปฏิเสธ และ ต่อต้านเพศสภาพของบุตรหลานอันเบี่ยงเบนด้วยความขัดแย้ง… การตัดสายสัมพันธ์ครอบครัว และหรือ เลือกปฏิบัติเพื่อลงโทษบุตรหลานที่ประพฤติไม่ได้ดั่งใจ หรือ ทำให้เสียเกียรติ… ซึ่ง “ความจริงที่เป็นปัจจุบัน” ถูกบิดเบือนด้วย “เงื่อนไขเก่า” อันสร้างปัญหาให้ความสัมพันธ์ โดยหลายเรื่องกลายเป็นเหตุของปัญหาที่ซับซ้อนตามมาทีหลังอีกหลายสิบปีจนถึงหลายชั่วอายุคนก็มี
บทความบน Psychology Today โดย Dr.Michael W. Austin ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาที่ Eastern Kentucky University ได้เสริมว่า… การมีใจเป็นธรรมมีประโยชน์ต่อคู่แต่งงานที่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันในบางประเด็นของความขัดแย้ง… ซึ่งใจเป็นธรรมจะเปิดทางให้ทั้งคู่ได้เข้าถึงมุมมอง และ ความคิดจิตใจของอีกฝ่าย… มีอคติน้อยลง… เห็นความห่วงใจใส่ใจจากอีกฝ่าย… เห็นคุณค่าของความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่ “การหันหน้าเข้าหากัน” ท่ามกลางปัญหา และหรือ ความขัดแย้ง
ประเด็นก็คือ… ใจเป็นธรรมนั้นง่ายในหลักการที่คู่ความสัมพันธ์ปฏิบัติต่อกันบน “ความจริง” ด้วยความเต็มใจ… แต่ความขัดแย้งในคู่ความสัมพันธ์เกือบทุกกรณีก็มักจะมาจาก “ความจริงคนละด้าน” ของคู่ขัดแย้งที่ยอมกันไม่ได้จนบานปลายเสมอ และ ที่แย่กว่านั้นก็คือ… ความจริงบางเรื่องสำหรับบางคน ไม่มีทางหักล้างความเชื่อ และหรือ เปลี่ยนทัศนคติกับความคิดเห็น และ อัตตาได้… ความขัดแย้งที่จบไม่ลงส่วนใหญ่จึงมีปัญหาที่ “ความจริง” เสมอมา… เช่นกัน
References…