Vision Mission

Vision/Mission… หลักคิดและวิธีเขียน

ในองค์กรทั้งรัฐเอกชนหรือแม้แต่องค์กรการกุศลและไม่แสวงหากำไรทั้งหลาย… การประกาศ วิสัยทัศน์ หรือ Vision และ พันธกิจ หรือ Mission ดูจะเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องสื่อสาร 2 สิ่งนี้ให้ทุกคนในองค์กรได้รับรู้และตีความร่วมกัน… แต่หลายครั้ง Vision และ Mission ก็ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อสารจนขับเคลื่อนองค์กรได้… และหลายครั้ง Vision และ Mission… ถูกเขียนขึ้นเพียงเพื่อให้มี โดยไม่มีใครในองค์กรใส่ใจเลยก็มี

ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายๆ หน่วยงานหรือองค์กรกำลังปฏิรูป หรือ Reform องค์กร เพื่อ “ไปต่อ” หลังวิกฤต COVID19 ที่ภาพในอนาคตหรือ Vision… กำลังถูกทบทวนและท้าทายองค์กร และเมื่อได้วิสัยทัศน์ที่แน่ชัดแล้ว ยังไงก็ต้องนำวิสัยทัศน์มาออกแบบสิ่งที่ต้องทำซึ่งถือเป็นแผนที่มีพันธะผูกพันทุกๆ ส่วนในองค์กร แบบที่นิยมเรียกกันว่าพันธกิจ หรือ Mission นั่นเอง

ประเด็นก็คือ… หลายท่านยังสงสัยอยู่ว่า Mission/Vision ต่างกันยังไง… เขียนยังไง และสื่อสารแบบไหน?

เวบไซต์ Stanford Graduate School of Business ระบุว่า… Mission เป็นข้อความที่ระบุว่า… Why The Organization Exists หรือแปลตรงตัวว่า ทำไมองค์กรเราจึงต้องมีอยู่… ซึ่งเป็นการบอกรวมๆ ถึงวัตถุประสงค์ว่า เหตุใดองค์กรจึงต้องทำงานที่ทำอยู่… โดยไม่ได้กำหนดวิธีการทำงานนั้นๆ ไว้ 

Vision จึงเป็นภาพร่างที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงว่า… 3 ปี 5 ปี หรือในอนาคตข้างหน้า องค์กรจะมีลักษณะอย่างไรในวันนั้น

พูดง่ายๆ ชัดๆ ก็คือ… Vision คือจุดหมายปลายทางที่มีไว้บอกทุกคนในองค์กรว่า “เราจะพาองค์กรไปให้ถึง ณ จุดนั้นกัน… ในขณะที่ Mission จะพูดถึงพันธกรณี หรือสิ่งต่างๆ ที่ต้องมีหรือต้องทำให้มี เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายตาม Vision

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… มีคำถามเสมอว่า Mission/Vision อันไหนใหญ่กว่าอันไหน และอันไหนมาก่อนอันไหน?… ซึ่งถ้าผมเจอคำถามแบบนี้จะตอบไปก่อนว่า… ผมมอง Mission/Vision เหมือนไก่กับไข่ ต่างต้องมีทั้งสองชิ้นที่บอกได้ยากว่าอันไหนมาก่อน อันไหนมาทีหลัง หรืออันไหนสำคัญกว่าอันไหน

และถ้าอ้างอิงข้อมูลจากเวบไซต์ Stanford Graduate School of Business ก็จะพบว่า… การอธิบายเรื่อง Mission/Vision จะมีตัวแปรอีก 2 ตัวเพิ่มเข้ามาในปัจจุบัน ได้แก่… Values หรือคุณค่า หรือค่านิยมในองค์กร โดยเฉพาะ Core Values หรือค่านิยมหลัก และ… Strategy หรือกลยุทธ์ หรือแผนการทางเทคนิคที่องค์กรจะต้องขับเคลื่อนลงมือทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ดังนั้น… Mission จึงต้องสร้างขึ้นโดยมี Vision เป็นเป้าหมาย และยังมีการกำหนดวัตถุประสงค์กับค่านิยมหลัก ใส่ไว้ในพันธกิจที่ต้องขับเคลื่อน ก่อนจะนำไปพัฒนากลยุทธ์… ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องเขียนเป็น Mission โดยมี Vision ชี้นำแนวทางการเขียน และควรหรือสามารถเขียน Vision หรืออีกนัยหนึ่งคือเป้าหมายเอาไว้ใน Mission ได้เลย

Credit: https://www.gsb.stanford.edu

ส่วนคำถามที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับ Vision/Mission ก็คือ… จะเขียนยังไง?

Peter Drucker ปรมาจารย์ด้านการจัดการที่นักบริหารทั่วโลกยกย่อง เคยสรุปประเด็นหรือแนวทางการเขียน Mission หรือการเขียน Mission Statement ไว้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว Mission หรือ พันธกิจขององค์กรหนึ่งๆ มักจะมีองค์ประกอบ 9 อย่างต่อไปนี้ได้แก่

  1. Customers หรือ ลูกค้า เป็นการแจกแจงข้อมูลเพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกมิติ ซึ่งไม่ว่าองค์กรจะมีตัวตนลูกค้าชัดเจนหรือไม่… งานทุกอย่างขององค์กรยังไงก็ต้องทำอะไรให้ใครซักคน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาบางอย่างให้คนบางคนหรือคนบางกลุ่ม
  2. Products and Services หรือ สินค้าและบริการ เป็นการระบุมุมมองของสินค้าหรือบริการ ที่องค์กรต้องการส่งมอบให้ลูกค้า
  3. Markets หรือ ตลาด เป็นการระบุพื้นที่ตามภูมิศาสตร์ หรือขอบเขตที่ลูกค้าเป้าหมาย มีจำนวนหรือปริมาณเพียงพอต่อการทำธุรกิจและดำเนินกิจการ
  4. Technology หรือ เทคโนโลยี เป็นการระบุว่า องค์กรใช้เทคโนโลยีแบบไหนอย่างไร และหรือมีนวัตกรรมอะไรตอบวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้บ้าง
  5. Concern for Survival หรือ คำนึงถึงความอยู่รอด เป็นการระบุถึงแนวทางการอยู่รอดจนเติบโตและสร้างผลตอบแทน ภายใต้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมหนึ่ง
  6. Philosophy หรือ ปรัชญา โดยหลักปรัชญาขององค์กรจะบอกความเชื่อ ตัวตนและความเป็นองค์กร วัฒนธรรมองค์กร คุณธรรม จริยธรรมขององค์กร รวมไปถึง ค่านิยมขององค์กร เพื่อเป็นต้นธารแห่งความสำเร็จขององค์กร
  7. Self-concept หรือ มโนทัศน์ส่วนตน หรือตัวตน เป็นรายละเอียดทางเทคนิค ทั้งจุดยืนและแนวทางเฉพาะ เพื่อให้องค์กรยืนหยัดเหนือคู่แข่ง ตัวชี้วัด หรือเพื่อสร้างความโดดเด่นให้บรรลุเป้าหมายด้วยวิธีและแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์
  8. Concern for Public หรือ คำนึงถึงสังคม เป็นการระบุข้อคำนึงถึงสังคม ชุมชน หรือ สิ่งแวดล้อม ทั้งเพื่อการสร้างภาพลักษณ์และการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งระบุขึ้นเพื่อใช้สื่อสารกับสังคมที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับองค์กร
  9. Concern for Employees หรือ คำนึงถึงบุคลากร องค์กรที่ระบุ Mission ถึงบุคลากรก็เพื่อขับเคลื่อนองค์กรผ่านพลังความร่วมมือของบุคลากร ตั้งแต่ระดับขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร ไปจนถึงการร่วมแรงเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ให้เป็นจริงร่วมกัน

โดยส่วนตัวผมมองว่า… แนวทางทั้ง 9 มิติที่ Peter Drucker ร่างเป็นโครงไว้ให้ ค่อนข้างจะมีรายละเอียด ซึ่งหลายกรณีทำให้การเขียน Mission Statement ดูเยิ่นเย้อไม่ต่างจากการรวมวัตถุประสงค์ของแผนหลายๆ แผนในองค์กรมาใส่ไว้จนไม่น่าสนใจ… โดยเฉพาะการพัฒนา หรือเขียนพันธกิจของ Startup เกิดใหม่ ซึ่งผมจะแนะนำแนวทางการพัฒนา Mission ด้วย Customer Oriented หรือมุ่งเน้นลูกค้า… หรือไม่ก็ Product Oriented หรือมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์แทนรายละเอียดข้อใดข้อหนึ่งใน 9 ประเด็นที่กล่าวมา… ซึ่งโดยข้อเท็จจริงของการกำหนดและเขียน Mission/Vision ก็ไม่ได้มีกฏตายตัวอะไรชัดเจนอยู่แล้ว

ท่านที่ยังงงๆ หรือกำลังอยากเปลี่ยนหรือเขียน Mission ใหม่กันตอนนี้… ลองค้นดู Mission/Vision ของธุรกิจที่เราสนใจดูก็ได้ครับ… ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเปิดเผยอวดกันหาไม่ยากเท่าไหร่อยู่แล้ว

ที่สำคัญคือ… ควรมีและยกให้เห็นเด่นชัดทั้งในและนอกองค์กรจะดีที่สุด!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts