Vision Statement… คำประกาศวิสัยทัศน์ #ExtremeLeadership

Vision หรือ วิสัยทัศน์ ที่องค์กรทุกรูปแบบถูกแนะนำให้ต้องมี และ ต้องใช้เพื่อสื่อสารบอกกล่าวให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรับรู้อย่างเข้าใจ โดยเฉพาะ “คนใน” ที่จำเป็นจะต้องเข้าใจตัวตน และ ความทะเยอทะยานขององค์กร ที่มีต่อเป้าหมายที่ถูกเขียนไว้ในวิสัยทัศน์… ถึงแม้จะเป็นเป้าหมายที่ยากลำบาก ซับซ้อน หรือ ล้ำลึกก้าวไกลเกินกว่าที่ใครๆ จะกล้าคิดว่าจะเป็นไปได้ก็ตาม

ในองค์กรสมัยใหม่… การกำหนดวิสัยทัศน์จะถือเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบองค์กร ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นเพื่อจะทำประโยชน์บางอย่างให้ใครหรืออะไรสักอย่าง โดยสิ่งที่จะทำทั้งหมดมักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเปลี่ยนจากเดิมไปสู่แบบอย่างตามวิสัยทัศน์… คำประกาศวิสัยทัศน์ หรือ Vision Statement จึงต้องฝังความหมายเพื่อให้สามารถสื่อถึง “จินตภาพ” ขององค์กรในอนาคตให้ออกมาดีที่สุด

ประเด็นก็คือ… Vision Statement หรือ คำประกาศวิสัยทัศน์ส่วนใหญ่มักจะออกแบบไว้ได้ไม่ดีพอที่จะสื่อสารให้คนส่วนใหญ่ที่ได้อ่าน “เข้าใจ และ เห็นภาพ” ตามที่กำหนด และ เขียนคำประกาศวิสัยทัศน์ชิ้นนั้นขึ้น… ซึ่งข้อมูลมากมายยืนยันตรงกันว่า… Vision Statement หรือ คำประกาศวิสัยทัศน์ที่ล้มเหลวในการสื่อสารมีผลกับผลิตภาพ หรือ Productivity ขององค์กรอย่างมีนัยยะ

ข้อมูลจากโรงงานผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Ford Motor พบว่า… พนักงานที่เข้าใจในวิสัยทัศน์จะมีคะแนนการมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายองค์กรเฉลี่ย 68% ส่วนพนักงานที่ไม่เข้าใจ หรือ ไม่ใส่ใจวิสัยทัศน์จะค่าเฉลี่ยการมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายองค์กรเพียง 18% แต่… 70% ของพนักงานไม่เข้าใจวิสัยทัศน์ขององค์กรอย่างถูกต้อง… นั่นหมายความว่า พนักงาน 70% ที่ไม่เข้าใจเป้าหมายอย่างแท้จริงจะไม่มี “เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงให้โฟกัส” ซึ่งจะนำไปสู่การปรับตัว และ เปลี่ยนแปลงอย่างสอดคล้องต่อกลยุทธ์หลักขององค์กรได้ไม่ดีไปด้วย

คำถามคือ… แล้วจะทำคำประกาศวิสัยทัศน์ หรือ Vision Statement อย่างไรให้สามารถสื่อสารได้ดีพอที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจ เห็นภาพ และ ให้ใจกับองค์กรเพื่อร่วมแรงผลักดันวิสัยทัศน์ให้เป็นจริง!

ถ้าท่าน Google หาวิธีเขียนวิสัยทัศน์แบบเลิศเลอก็จะพบคำแนะนำมากมายครับ… หรือจะขอให้ ChatBot AI อย่าง ChatGPT ช่วยหา Vision Statement มาแนะนำโดยตรงก็ได้อีกเช่นกัน… แต่โดยความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า… คำประกาศวิสัยทัศน์ หรือ Vision Statement ทุกประโยคที่ประกาศออกไปคงมีคนไม่มากที่จะเข้าใจ “ความหมายฝัง หรือ นิยามแฝง” ที่ถูกเรียงร้อยเป็นข้อความขึ้นมาท่อนหนึ่ง… เพราะคำประกาศวิสัยทัศน์ หรือ Vision Statement ยังต้องการบริบทที่เหมาะสมอื่นๆ ในการสื่อสารไปยัง “เป้าหมายผู้รับสาร หรือ Target Audience” อย่างต่อเนื่อง… โดยเฉพาะ “คนใน” ที่สำคัญกับการร่วมแรงในการผลักดันวิสัยทัศน์ให้ปรากฏ

คำแนะนำคือ… ในเบื้องต้นท่านสามารถเขียน “คำประกาศวิสัยทัศน์ หรือ Vision Statement” อย่างที่ท่านอยากเขียนได้ทุกรูปแบบ ตราบเท่าที่แยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า “วิสัยทัศน์ หรือ Vision” เป็นภาพที่อยากเห็น และหรือ อยากเป็นในอนาคต ซึ่งมักจะเป็นภาพอนาคตที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน… โดยไม่ปะปนกับ “พันธกิจ หรือ Mission” ซึ่งเป็นปัจจุบันที่ต้องทำ และ สามารถทำได้จริง… และ ต้องไม่ปนกับ “กลยุทธ์ หรือ Strategy” ซึ่งเป็นเครื่องมือ และ แนวทางในการบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจ…

ที่เหลื่อก็คงเป็นการสื่อสารจากผู้นำ และ หัวหน้างานที่จะต้อง “ถ่ายทอดวิสัยทัศน์” กับทีมในทุกๆโอกาส และ ทุกๆ ช่องทางที่ทำได้ เช่น ในห้องประชุม… ใน Town Hall… ในงานเลี้ยงประจำปี… สื่อสารผ่าน eMail ป้ายนิเทศก์ และ สื่อมัลติมีเดีย เป็นต้น

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *