Waste Electrical and Electronic Equipment หรือ WEEE หรือ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานหรือที่เราไม่ต้องการแล้ว ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่น่ากลัวไม่ต่างจากแง่มุมปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เลย
WEEE หรือ Electronic Waste หรือ eWaste หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์… ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ของประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากชิ้นส่วนของขยะเหล่านี้ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีและโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สารหนู ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยตรง และหากกำจัดโลหะหนักไม่ถูกวิธี เช่น ถอดแยกชิ้นส่วน แล้วทำลายด้วยวิธีเผาหรือฝัง สารพิษจะรั่วไหลสู่ระบบนิเวศน์และเกิดปัญหามลพิษทางดิน น้ำ และอากาศตามมามากมาย
ข้อมูลจากคุณนภวัส บัวสรวง ในฐานะผู้อำนวยการของเสียอันตราย สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย ได้รายงานข้อมูลว่า ปี พ.ศ. 2559… ประเทศไทยมีปริมาณของเสียอันตรายเกิดขึ้นทั่วประเทศ 606,319 ตัน แบ่งเป็น ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 393,070 ตัน และของเสียอันตรายอื่นๆ อีก 213,249 ตัน
โดยมีซากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กลายเป็นขยะ 5 อันดับแรกได้แก่…
- เครื่องรับโทรทัศน์ 108,781 ตัน
- เครื่องปรับอากาศ 76,519 ตัน
- ตู้เย็น 67,278 ตัน
- เครื่องซักผ้า 61,883 ตัน
- คอมพิวเตอร์ 58,370 ตัน
ประเด็นที่สำคัญที่สุดของขยะอิเลคทรอนิคส์สำหรับประเทศไทยก็คือ คนไทยมองว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ที่ไม่ใช้แล้วหรือเสีย ถือเป็นของเก่าที่เก็บไว้ขายคนซื้อของเก่า เพื่อนำไปแยกชิ้นส่วนที่มีราคาไปขายต่อ ในขณะที่ส่วนที่เหลือกลายเป็นขยะพิษที่สร้างภาระต่อระบบนิเวศน์อย่างน่ากลัว
กรณีกิจการรับซื้อขยะอิเลคทรอนิคส์ในพื้นที่ ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ชาวบ้านซื้อซากเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามาคัดแยกถอดชิ้นส่วนที่ขายได้ และเผาทำลายส่วนที่เหลือกลางที่โล่งในเขตชุมชน…

ประเด็นคือ ผู้ประกอบการค้าของเก่าในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย มีหลายร้อยรายและนำเข้าซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและซากรถจักรยานยนต์ มากกว่า 1,000 ตันต่อเดือน ซึ่งชาวบ้านที่หันมาซื้อขยะแยกขาย มีเพียงฆ้อน ไขควง มีดและไฟเป็นเครื่องมือและแนวทางประกอบอาชีพ โดยไม่สนใจว่า… โบรมีนในกล่องสายไฟและแผงวงจรเป็นสารก่อมะเร็ง… ตะกั่วที่ใช้บัดกรีแผงวงจรและแบตเตอรี่ สามารถทำลายระบบประสาท ระบบเลือด รวมถึงระบบพัฒนาการของสมอง… แคดเมียมในวัสดุกึ่งตัวนำ ทำให้ไตวายและเป็นโรคอิไตอิไต… ปรอทในหลอดฟลูออเรสเซนต์และสวิตช์ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง
กรณีบ้านโคกสะอาด เป็นประเด็น eWaste หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลาต่อมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านและข้ออ้างเรื่องผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าและซาเล้ง ที่อ้างว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 60,000 รายทั่วประเทศ พร้อมกับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ยื่นข้อเสนอทั้งคัดค้านและแก้ไขในหลายประเด็น
ประเด็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….. ผมขอข้ามที่จะไม่เอ่ยถึงตอนนี้ก่อนครับ แม้ร่างจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562 แล้วก็ตาม… เพราะแง่มุมต่างๆ ในประเด็น “ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์” ยังคงเหลือความขัดแย้งและเห็นต่างอีกมากมายรอการจัดการที่ดีกว่านี้… แต่ระหว่างนี้ก็คงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมา
#FridaysForFuture ครับ!!!
อ้างอิง