ตัวเลขปริมาณขยะ หรือ ของเหลือทิ้งที่เรียกได้เต็มปากว่าขยะมูลฝอย หรือ Waste ในปัจจุบันปี 2022 อ้างอิงสถิติของ United States Environmental Protection Agency หรือ EPA จะใช้ตัวเลข 2,000 ล้านตันต่อปีเป็นฐาน และ คาดว่าปี 2050 จะเพิ่มเป็น 3,400 ล้านตันต่อปี… โดย 44% ของปริมาณขยะเหลือทิ้งจะเป็นขยะอาหารและขยะอินทรีย์… และมี “ขยะอาหารกับขยะอินทรีย์” จากธุรกิจบริการและสถาบัน เช่น โรงพยาบาล หรือ โรงงานอาหาร ซึ่งมีกฏหมายสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมบังคับใช้ชัดเจนอยู่เพียง 25% ในขณะที่ขยะอาหารกับขยะอินทรีย์ หรือ ขยะสดจากครัวเรือนและภาคบริการรายย่อยมีมากถึง 75%
ในขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลกให้ตัวเลขเอาไว้ใกล้เคียงกันคือ ~2,000 ล้านตันในปัจจุบัน และ คาดว่าการสร้างขยะจะเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ภายในปี 2050… และธนาคารโลกก็เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายการเมือง การวิจัย อุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบาย และ ภาคประชาสังคม… โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อนำไปสู่ Waste-to-Energy ที่ต้องพูด–คิด–ทำในแนวทางเดียวกัน
ประเด็นก็คือ… สถิติ และ การคาดการณ์ที่เห็นทั้งหมดสะท้อนว่า การจัดการขยะในรูปแบบที่ดำเนินการกันอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถลดปริมาณขยะลงได้เลย หรือแม้แต่ทำให้ปริมาณขยะสมดุลเชิงปริมาณโดยไม่เพิ่มมากขึ้นก็ยังไม่ได้!
การมองหาเทคโนโลยีในการจัดการขยะเหล่านี้เพื่อให้เข้าสู่ “วงจรรีไซเคิล” ให้ได้มากขึ้น และ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงเป็นวาระใหญ่ที่ต้องหาทางผลักดันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้… เพราะถ้าของเหลือทิ้งเหล่านี้ถูกทิ้งเป็นขยะไร้ค่า… ขยะไร้ค่าเหล่านี้ยังสามารถก่อมลพิษกระทบอะไรต่อมิอะไรได้อีกมาก ถึงแม้จะเป็นขยะอาหาร และ ขยะอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยได้ แต่การเน่าเปื่อยก็สามารถทำลายชั้นโอโซนโลกจากก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการย่อยสลายในอากาศเปิดอย่างมีนัยยะสำคัญ… ความพยายามในการผลักดันให้เกิดการรีไซเคิลด้วยโมเดล W2E หรือ Waste–to–Energy จึงเป็นทางเลือกแรกๆ ในระดับสากลที่มีบางฝ่ายกำลังผลักดันเข้าสู่วาระสำคัญของโลกผ่าน SDG Models หรือ Sustainable Development Goals… และมีความเคลื่อนไหวจากหลายที่มุ่งเป้า Waste–to–Energy อย่างน่าสนใจ
ในสหรัฐอเมริกา… กรณีของสตาร์ทอัพที่มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจด้วยโมเดล Waste–to–Energy ชื่อ HomeBiogas ก็ได้พัฒนา และ จัดจำหน่ายระบบแก๊สชีวภาพครบวงจรสำหรับครัวเรือน ให้สามารถนำขยะอาหารและขยะอินทรีย์ รวมทั้งปฏิกูลในบ้าน ไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในบ้านได้โดยไม่ต้องทิ้งเป็นขยะ… ซึ่งลดก๊าซเรือนกระจกได้มาก และ ยังมีก๊าซหุงต้มใช้ฟรีในบ้านด้วย
ส่วนสหภาพยุโรปก็ได้รวมตัวกันตั้งองค์กรอิสระชื่อ European association representing manufacturers in the field of Waste-to-Energy หรือ ESWET เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสากรรมในยุโรปในพัฒนาโครงสร้างการผลิตพร้อมโมเดล Waste-to-Energy ซึ่งถูกวางให้เป็นกลยุทธ์การกำจัดของเสียอย่างยั่งยืนโมเดลหนึ่งที่น่าตื่นตาในการออกแบบระบบนิเวศอย่างมาก
ส่วนของไทย… ผมเห็นข่าวนักการเมืองที่ลงสมัครผู้ว่า กทม. บางท่านประกาศชัยชนะที่สามารถล้มโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะได้ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับเหตุผลที่ท่านคัดค้าน… แต่ผิดหวังกับการคัดค้านเพียงเพื่อจะล้มโครงการแบบไม่รับผิดชอบ โดยไม่มีความพยายามที่จะเสนอทางออกอื่นที่สามารถจัดการขยะด้วยความยั่งยืนจริงๆ
มันน่าเศร้า… โคตรๆ
References…