Water Pollution

วิทยาการข้อมูลสถานะแหล่งน้ำ กับปัญหามลพิษและภัยพิบัติจากน้ำ

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงของน้ำที่มีอยู่ทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพระหว่างช่วงเวลาต่างๆ ของปี ทำให้สมดุลการใช้น้ำที่มีอยู่ส่งผลกระทบในวงกว้าง

กรณีน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 กินพื้นที่ 65 จังหวัด เดือดร้อน 4,213,404 ครัวเรือน และมีประชาชนได้รับผลกระทบ 14,037,556 คน เสียชีวิต 815 คนและสูญหาย 3 คน… ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ลดลง 248,386 ล้านบาท… ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม 12.11 ล้านไร่ มีนาข้าว 9.77 ล้านไร่ พืชไร่ 1.77 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 0.57 ล้านไร่… ด้านประมง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย เป็นบ่อปลา 214,461 ไร่ และบ่อกุ้ง/ปู/หอย 53,556 ไร่… ด้านปศุสัตว์ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 220,209 ราย สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ 29.41 ล้านตัว

ตัวอย่างข้อมูลผลกระทบข้างต้น สามารถบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบลงได้ ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยอ้างอิงข้อมูลเชิงปริมาณ 

กรณีข้อมูลเชิงปริมาณ ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามความคืบหน้า โครงการสำรวจติดตั้งระบบตรวจวัดสถานภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง 25 ลุ่มน้ำหลักและ 254 ลุ่มน้ำสาขามาตลอดตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 โดยมีศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำหรือศูนย์เมขลาเป็นเจ้าภาพดูแลอยู่

แต่ข้อมูลเชิงคุณภาพของน้ำยังคลุมเครือขาดการจัดการเชิงบูรณาการอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นมลพิษทางน้ำ ที่ส่วนใหญ่ท้องถิ่นจะดูแลกันเองแบบบ้านใครบ้านมัน และเมื่อเกิดปัญหามลพิษทางน้ำขึ้นแล้ว กรมควบคุมมลพิษจึงค่อยเข้ามาดูแลสานต่อเพื่อแก้ปัญหา หรือถ้ามีข้อพิพาทใดๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงค่อยเข้ามาดูแลปัญหาข้อพิพาท 

ประเด็นก็คือ เราใช้น้ำทำทุกอย่างตั้งแต่ดื่มกินไปจนถึงเป็นแหล่งอาหารทั้งสัตว์น้ำพืชผักและเส้นทางคมนาคม น้ำในธรรมชาติโดยธรรมชาติ จึงไม่มีทางที่จะเป็นน้ำบริสุทธิ์โดยไม่ปนเปื้อนอะไร… แต่การปนเปื้อนตามธรรมชาติ กับปัญหาน้ำเสียและมลพิษทางน้ำก็ยังเป็นคนละเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า… น้ำเสียหรือน้ำเสื่อมคุณภาพ หรือน้ำมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสิ่งปนเปื้อนอย่างสารเคมี เชื้อโรค แร่ธาตุโลหะหนัก และสารกัมมันตรังสี ที่ส่งผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ก่อนการเน่าเสียปนเปื้อน จนกระทบทั้งคน สัตว์และพืชพันธุ์ในบริเวณนั้น

ส่วนประเด็นการพูดคุยเรื่องน้ำเชิงคุณภาพ ส่วนใหญ่จึงยังวนเวียนอยู่กับปัญหาน้ำเสีย น้ำเน่า น้ำปนเปื้อนเป็นพิษ จนถึงปัญหาขยะในน้ำที่ลืมไปว่า ปัญหาคุณภาพน้ำที่พูดคุยกันทั้งหมดเป็นปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นเพียงห่วงโซ่ท่อนเดียวในวงจรน้ำที่มีสถานะทั้งในรูปของแข็ง ของเหลวและก๊าซ วนเวียนอยู่เป็นวัฏจักรของดาวที่มีน้ำถึงสามในสี่ส่วน

กรณีปริมาณน้ำ… แนวคิดในการจัดการน้ำเชิงปริมาณด้วยข้อมูล เพื่อบริหารปริมาณน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นภัยคุกคามชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม… ถือเป็นแนวทางยั่งยืนที่เชื่อมั่นได้ค่อนข้างชัดเจน ทั้งจากกล้อง CCTV จากจุดสำคัญๆ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำหลักและ 254 ลุ่มน้ำสาขา พร้อมเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวัง… ซึ่งก็มีเหตุปริมาณน้ำมากให้ระวังไม่บ่อยนัก

แต่แนวคิดการจัดการน้ำเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะกรณีน้ำเน่าเสีย ทั้งน้ำเสียทางกายภาพ หรือ Physical Wastewater… น้ำเสียทางเคมี หรือ Chemical Wastewater… หรือน้ำเสียทางชีววิทยา หรือ Biological Wastewater ไล่ไปจนถึงขยะในน้ำ จนไปอยู่ในกระเพาะสัตว์น้ำจืดน้ำเค็ม ที่หลายท่านเดือดดาล

ประเด็นข้อมูลน้ำเชิงคุณภาพ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าข้อมูลน้ำเชิงปริมาณ สามารถบอกข้อมูลน้ำเชิงคุณภาพได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่ต้องอาศัยการคำนวณจากคอมพิวเตอร์ ด้วย Algorithm ที่ครอบคลุมตัวแปรในพื้นที่รายงานข้อมูล กับ Input จากอุปกรณ์ IoT ที่แม่นยำและทันสมัยเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย… เราน่าจะได้ระบบรายงานข้อมูลที่ Realtime หรือ Water Quality Monitoring Model จนนำไปสู่การตัดสินใจเชิงรุกต่อปัญหาและผลกระทบได้ทันเวลา

ผมเข้าเวบไซต์ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำหรือศูนย์เมขลา เพื่อดูรายงานสถานการณ์น้ำประจำวันจากลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังเผยแพร่รายงานเป็นเอกสาร PDF อยู่ และเอกสารแต่ละชุดให้ข้อมูลเชิงบรรยาย และรู้สึกว่าคำบรรยายจะมีมากกว่าข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหมือนน้ำท่วมทุ่งข้อมูลรอระบายยังไงยังงั้น…

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรผมเชื่อว่า ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำก็คงมีเหตุผลของท่านที่ทำรายงานแบบนั้นเผยแพร่… แต่ผมก็ยังอยากเห็นเทคโนโลยีข้อมูลและเครื่องไม้เครื่องมือที่ไปไกลถึงระดับเฝ้าระวังประเด็นคุณภาพน้ำทางไกลได้ แบบที่เฝ้าระวังทางปริมาณมิติเดียว

ผมมองว่า… เทคโนโลยีดาวเทียม เทคโนโลยี IoT Sensors และ Image Recognition Technology ที่ตรวจวัดสอบเทียบสีและโครงสร้างภาพถ่ายกับข้อมูลการทดสอบคุณภาพน้ำ และเก็บเป็นสถิติเพื่อใช้อ้างอิง น่าจะสร้าง Big Data ที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวเพื่อการเฝ้าระวังปัญหามลพิษทางน้ำ ที่ผมมองว่า เกิดขึ้นช่วงน้ำน้อยและถูกละเลยเพราะไม่มีประเด็นข้อพิพาทเท่านั้นเอง… อย่าลืมว่า ต่อให้ฝนแล้งห้วยแห้งแม่น้ำเหือดซักแค่ไหน คนยังใช้น้ำและระบายจากอาคารบ้านเรือนและโรงงานเท่าเดิมเป็นส่วนใหญ่… ยกเว้นแต่ท่านที่เกี่ยวข้องจะคิดว่า ไม่มีเรื่องร้องเรียนหรือข้อพิพาทขัดแย้งก็ผ่านๆ ไป!!!

#FridaysForFuture ครับ!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts