ในวิกฤตโควิดที่กระทบห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกคราวนี้ ไทยเองถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID19 ได้ดีมากๆ จนกลายเป็นกรณีศึกษาให้อีกหลายๆ ประเทศใช้อ้างอิงแนวทางได้… และหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมทางระบาด ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากเช่นกัน…
หลายฝ่ายที่กังวลว่า… หลัง COVID19 อาจจะเจอความผันผวนไม่แน่นอนหลายอย่างเกินคาดเดา… แต่เมื่อการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ผ่านไปช่วงหนึ่ง หลายคนก็ใจชื้นว่า หลายอย่างไม่ได้น่ากังวลอย่างที่กลัว หรือมีคนวาดภาพเอาไว้… ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่ส่งเสียงด้วยสมมุติฐานที่เน้น Worst-case Scenario หรือ กรณีเลวร้ายสุดในสถานการณ์โควิด
แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงย่ำแย่ เหมือนหลายๆ ประเทศ… ก็ถือว่าเราทุกคนในชาติ “มีส่วน” ในความสำเร็จของศึกนี้… แต่สงครามกับเชื้อโรคคงยังไม่จบ และคงไม่ใช่ศึกสุดท้ายด้วยซ้ำ… หลายอย่างที่ควรเปลี่ยนแปลงเพื่อบริหารความเสี่ยง “เกินการควบคุมและตัดสินใจ” ซึ่งผมเชื่อว่าหลายสิ่งยังจำเป็นต้องเปลี่ยน
หลายสัปดาห์ก่อนผมมีโจทย์เกี่ยวกับ “ธุรกิจสปาและความงาม” ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนจากมาตรการล๊อคดาวน์ในช่วงที่ 4 อย่างมีเงื่อนไข… ซึ่งแปลว่า ธุรกิจสปาและความงามมีความเสี่ยงทางระบาดสูงจาก Business Operation หรือขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องใช้คนบริการคนอย่างใกล้ชิด
การบ้านหลังโควิดสำหรับกิจการสปาและความงาม จึงต้อง “หาทาง” แม้ว่าหลายอย่างใน Business Operation จะปรับเปลี่ยนได้ไม่มาก… แต่ความโดดเด่นของประเทศไทย ที่ควบคุมวิกฤตโรคระบาดได้ดีเยี่ยม ทำให้ภาพลักษณ์ธุรกิจและบริการเชิงสุขภาพในประเทศไทย กลายเป็น “จุดหมาย หรือ Destination” ที่ธุรกิจสาย Wellness จะเติบโตไปกับธุรกิจ Medical ในระดับโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

หันมาดูตัวเลขเกี่ยวกับธุรกิจสปาและความงาม ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั่วโลก ตามการคาดการณ์ของ Global Wellness Institute หรือ GWI อยู่ที่ระดับ 169,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ ห้าล้านล้านบาท ในช่วงปี 2015-2020… ซึ่งตัวเลขแบบนี้ยืนยันว่า ธุรกิจนี้ไม่มีทางล้มหายตายจาก เพราะอุปสงค์ขนาดมหึมาหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะถูกล๊อคดาวน์ และทั่วโลกยังวุ่นวายอยู่กับการใส่หน้ากากหรือไม่ใส่หน้ากากกันอยู่
ผมมีเอกสารจาก SCBEIC หรือศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งออกรายงานเกี่ยวกับธุรกิจสปาในบางมิติเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี 2018… พูดถึงความเป็นธุรกิจดาวเด่นของอุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ หรือ Wellness Industry ซึ่งพบแนวโน้มทั่วโลกมีอัตราการเติบโตที่สูง… อ้างอิงการคาดการณ์ของ Global Wellness Institute หรือ GWI ซึ่งประเมินมูลค่าตลาดของธุรกิจสปาทั่วโลก มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยถึง 6% ต่อปี หรือจากมูลค่าตลาด 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 1.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2015-2020
โดยการเติบโตของธุรกิจสปามีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก
1. จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ GWI และ CIA World Factbook พบว่า… ประเทศที่มีมูลค่าตลาดธุรกิจสปาใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลกส่วนใหญ่มีระดับอายุเฉลี่ย ของประชากรสูงกว่า 40 ปี ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการใช้บริการสปาที่มากขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
2. กลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกมีระดับรายได้ที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองนอกเหนือจากการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน
3. วิถีชีวิตที่เร่งรีบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด
มูลค่าตลาดธุรกิจสปาในไทยมีการเติบโตราว 8% ต่อปี… สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก หรือขยายตัวจากระดับประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2013 มาอยู่ที่ราว 3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2015 สูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย เป็นรองเพียงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินเดีย
โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากการประมาณการโดย GWI คาดว่า มูลค่าตลาดของ Wellness Tourism ทั่วโลกจะเติบโตราว 7% ต่อปีในช่วงปี 2015-2020 จากมูลค่า 19 ล้านล้านบาทเป็น 27 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าธุรกิจสปาในไทยจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตนี้
รายงานของ SCBEIC ฉบับที่อ้างอิง ซึ่งเป็นฉบับเผยแพร่สาธารณะ… นำเสนอตัวเลขประเทศไทยเป็นหลัก และรูปแบบการดำเนินธุรกิจสปาที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มเติบโตสูง มีรูปแบบที่ได้รับความนิยมในไทย 3 รูปแบบ ได้แก่
1. Day Spa เป็นรูปแบบสปาที่พบเห็นได้แพร่หลายมากที่สุด มักตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน อาคารสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้า เน้นการทำทรีตเมนต์ในระยะเวลาตั้งแต่ 30-210 นาทีโดยไม่มีการค้างคืน
2. Destination Spa สปาที่ให้บริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรพร้อมห้องพักแก่ลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการเข้าพักและบริการที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสุขภาพของตนเองได้ตามต้องการ ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาการเข้าพัก และรับบริการตั้งแต่ 3-28 วัน สปารูปแบบนี้มักตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพสวยงาม
3. Hotel Spa เป็นสปาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงแรม ลักษณะการให้บริการจะคล้ายกับ Day Spa โดย Hotel Spa ในไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ Banyan Tree Spa และ Kempinski the Spa ทั้งนี้ Hotel Spa นับเป็นหนึ่งในรูปแบบสปาที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตตามภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมให้แก่นักท่องเที่ยวและช่วยเสริมประสิทธิภาพการสร้างรายได้ให้แก่โรงแรม
ซึ่ง Hotel Spa ช่วยเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจโรงแรม สะท้อนจาก RevPAR หรือ Revenue per Available Room หรือ ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อจำนวนห้องทั้งหมดที่สูงกว่า โดยเปรียบเทียบและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการสปาและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอาง



จากข้อมูลของ CBRE Hotels พบว่า… โรงแรมในสหรัฐอเมริกา ที่มีบริการสปาจะมีระดับรายได้ต่อห้องพักทั้งหมด หรือ RevPAR สูงกว่าโรงแรมที่ไม่มีสปาอยู่ราว 27% สำหรับโรงแรมในเขตเมือง และ 10% สำหรับที่พักแบบรีสอร์ท
เนื่องจากโรงแรมสามารถขึ้นค่าห้องพักได้สูงกว่า ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดและรายได้ประจำให้แก่โรงแรมจากฐานลูกค้าที่สมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการสปา รวมถึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโรงแรมในด้านภาพลักษณ์อีกด้วย
ทั้งนี้ Hotel Spa ที่มีรูปแบบการให้บริการที่แตกต่าง สามารถสร้างจุดเด่นให้โรงแรมได้ เช่น Zen Zone Spa ของโรงแรม 5 ดาว Gran Hotel la Florida ในบาร์เซโลน่าที่นำเสนอบริการให้ลูกค้าได้พักผ่อนในห้องออกซิเจนบริสุทธิ์ 99.5% ภายใต้แสงสีฟ้าเพื่อบำบัดความเครียดและกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย… หรือ K-Spa ของโรงแรม K-West Hotel & Spa ในลอนดอนที่ให้บริการสปาด้วยอุณภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งสลับกับการอบซาวน่าเพื่อช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ลดเซลลูไลท์และเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานให้ร่างกาย ซึ่งเป็นศาสตร์ Hot-and-Cold Therapy ของฟินแลนด์
อีกด้านหนึ่ง… Hotel Spa สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการสปา สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น ผ่านการขยายธุรกิจสปาในโรงแรม เนื่องจากโรงแรมระดับ 4-5 ดาวส่วนใหญ่ มักตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ประกอบกับแขกที่เข้าพักส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูง โดยผู้ประกอบการสปาที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องหอม สามารถประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเองผ่านการใช้งานจริงกับลูกค้าที่ใช้บริการสปา เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสร้างการรับรู้ หรือ Brand Awareness ต่อกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น
ตอนหน้ามาตามดู ธุรกิจสปา ความงามและสุขภาพ ในมิติของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผมเตรียมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจสปาเอาไว้ในชุดบทความ #SaturdaySME ครับ!
อ้างอิง