whole-parts-whole

Whole–Part–Whole Learning Model… แม่แบบการเรียนรู้แบบองค์รวมในการศึกษาผู้ใหญ่

คำว่า องค์รวม หรือ Whole ในโมเดล WPW Learning ที่ Malcolm Knowles ยกมาแนะนำให้ใช้ในหนังสือ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development นั้น… ถือเป็นรากฐานของการศึกษาแบบองค์รวม หรือ Holistic Education อ้างอิงพฤติกรรมบูรณาการ หรือ Integrated  Behavior ตามหลักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ หรือ Gestalt Psychology ที่ระมัดระวังเรื่องแบ่งแยก และให้ความสำคัญกับการรวมเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ หรือคุณค่าขั้นกว่า

ในขณะที่ WPW ก็ใช้ Whole จากฐานเดียวกันมาพัฒนาโมเดล WPW โดยให้ความสำคัญของ “การรวมเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ ห่อหุ้มรายละเอียดที่สามารถจัดการ หรือดำเนินการด้วยแนวทางใดๆ อย่างอิสระ” ทำให้โมเดล WPW ที่สร้างมานี้ มีแนวปฏิบัติเดียวกับ การศึกษาแบบองค์รวม หรือ Holistic Education ที่นักการศึกษาส่วนใหญ่รู้จักและใช้เป็นอยู่แล้ว แต่ไม่เคร่งครัดที่จะรวบ “รายละเอียด หรือ Part” ต่างๆ ไว้จัดการพร้อมกันอย่างเคร่งครัดตามแนวอย่าง จิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ หรือ Gestalt Psychology… ซึ่งความโดดเด่นเชื่อถือได้ขององค์รวม จึงมีไว้เพื่อเพิ่มคุณค่าส่วนต่างๆ ที่สามารถผูกเป็นองค์รวมได้ทั้งก่อนและหลังดำเนินการกับส่วนย่อยอื่นๆ ในองค์รวม

บทความตอนนี้เป็นตอนต่อจากบทความเรื่อง Practices in Adult Learning… แนวทางการนำใช้ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ และแนะนำให้ท่านคลิกกลับไปอ่านก่อนเพื่อปูพื้นฐานการนำใช้ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ หรือ Andragogy ของ Malcolm S. Knowles

แม่แบบการเรียนรู้ หรือ Learning Model ชุด Whole–Part–Whole จะให้ความสำคัญกับ First Whole ส่วนแรกที่จะบอกว่ามี Part หรือ ส่วนประกอบอะไรบ้าง… และให้ความสำคัญอย่างมากกับ Second Whole  อันเป็นบทสรุปที่เก็บรวบรวมคุณค่าจากส่วนประกอบไปเป็นองค์รวมเพียงหนึ่งเดียวอีกครั้ง… มาดูรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อลดอาการงงงวยไปพร้อมๆ กันเลยครับ

The First Whole หรือ องค์รวมแรกสุด

Whole แรกสุดในโมเดลนี้จะกำหนดขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมการเรียนรู้ และกำหนดโครงสร้างเนื้อหาบทเรียน หรือเนื้อหาเพื่อนำสู่บทเรียน… ในบทความชื่อ Meta-Findings From Neuroscience to Learning… แม่บทการค้นคว้าจากประสาทวิทยาถึงการเรียนรู้ ได้ระบุ “แม่บทสำคัญในการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ไว้ 3 ข้อ” โดยข้อ 3 หรือ Meta-Findings ที่ 3 ระบุว่า… การเรียนรู้เกิดขึ้นโดยเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมที่มีอยู่ ซึ่งธรรมชาติของการเรียนรู้และจดจำของสมองจะเรียนรู้โดยการเทียบเคียงความรู้ใหม่กับประสบการณ์และความรู้เดิม… ในทางเทคนิคแล้ว First Whole จึงเป็นการเตรียมสมองเพื่อให้คุ้นกับสิ่งที่กำลังจะเรียนรู้ในลำดับต่อไป… ดังนั้น สิ่งที่ First Whole ต้องเตรียมไว้คือ

1. โครงสร้างเนื้อหาที่มีความหมายต่อผู้เรียน โดยการ “ตระเตรียม หรือ Organizers” อย่างปราณีต… 

ให้เห็นเส้นทางการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น พร้อม “เหตุผลที่ต้องเรียนรู้” สะสมและฝึกฝนประสบการณ์นั้น ไปจนถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่จะเกิดกับผู้เรียน

ในหนังสือ Educational Psychology: A Cognitive View ของ David Ausubel และคณะ ได้พูดถึงและแนะนำ “การตระเตรียมล่วงหน้า หรือ Advance Organizer” ก่อนเกิดการเรียนการสอนเอาไว้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของขั้นตอนนี้

หนังสืออีกเล่มคือ Educational Psychology: Instruction and Behavioral Change ของ Francis J. Di Vesta ศาสตราจารย์และนักวิจัยด้านการศึกษาจาก Pennsylvania State University สรุปประเด็น “Advance Organize” ว่า… หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้างความรู้และประสบการณ์เดิมที่จำเป็นต่อการต่อเติมความรู้และประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้น

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ โครงร่างข้อมูล หรือ Schemata ในสมองของคนที่มีอยู่เดิม เช่น กินข้าวในร้านอาหาร ปวดปัสสาวะไปห้องน้ำ รวมทั้งความรู้อื่นๆ อีกมากที่สมองสะสมจากประสบการณ์เดิมตลอดเวลา ซึ่งทำให้คนแตกต่างหลากหลายบนประสบการณ์ที่สมองแต่ละคน มีโครงร่างข้อมูลต่างกัน

ประเด็นก็คือ… ถ้าต้องสอนคน 30 คนที่ผู้สอนรู้อยู่แล้วว่า… Schemata ในสมองไม่เหมือนกันเลยทั้ง 30 คน อันเป็นธรรมชาติที่ผู้คนจะแตกต่างหลากหลาย… คำถามคือจะเตรียมการล่วงหน้า หรือ Advance Organize กรณีนี้อย่างไร…

ผลงานของ Malcolm S. Knowles ในปี 1988 ชี้ว่า… องค์กรการจัดการเกี่ยวกับความรู้ เช่น สถาบันการศึกษา ต้องวางรากฐานที่จำเป็นในการเรียนการสอน ด้วยเส้นทางการเรียนรู้จากง่ายไปยากและหลีกเลี่ยงเด็ดขาดที่จะสุ่มกระบวนการโดยไม่พิจารณาประสบการณ์เรียนรู้เดิม ซึ่งการเริ่มจากง่าย จะทำให้สมองมีประสบการณ์ที่จะเรียนรู้เรื่องที่ยากกว่าในลำดับถัดไป เริ่มด้วยชิ้นความรู้ที่มีความหมายเล็กน้อยกับเนื้อหาทั้งหมด แล้วค่อยไต่ไปสู่ระดับเติมเต็มวัตถุประสงค์การเรียนในท้ายที่สุด… 

คำถามที่ว่า ถ้าต้องสอนคน 30 คน ที่พื้นความรู้เดิมและประสบการณ์หลากหลายไม่เหมือนกันจะทำอย่างไร… คำตอบคือกลับไป “ตระเตรียมประสบการณ์ร่วมของคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนั้น” เช่น เริ่มต้นด้วยการ์ตูนดัง หรือเพลงดัง โฆษณาดังๆ ที่กลุ่มนี้ล้วนเคยมีประสบการณ์ร่วมมาก่อน… และเชื่อมโยงเข้าสู่สิ่งที่กำลังจะสอนต่อไป

2. ใส่แรงจูงใจและแรงบันดาลใจอันท้าทายให้ผู้เรียนเอาไว้ในองค์รวมแรก… 

ผลงานของ Malcolm S. Knowles ในปี 1988 พูดถึง การเรียนรู้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง 2 ประเภท คือ

2.1 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเขตความรู้ความเข้าใจส่วนตน
2.2 การเปลี่ยนแปลงจากความต้องการภายใน หรือแรงจูงใจส่วนบุคคล

นั่นหมายความว่า… ผู้เรียน “ไม่มีทางเกิดแรงจูงใจเองได้” จนบรรลุการเปลี่ยนแปลง เว้นแต่ แรงจูงใจจะถูกเตรียมให้โดยผู้สอน ซึ่งสามารถ “ใส่แรงกระตุ้นความต้องการภายใน หรือ Need ของผู้เรียน” เอาไว้ใน First Whole เพื่อเพาะขึ้นในสมอง จนไปกระตุ้น Need หรือความต้องการภายในตัวผู้เรียน

และ Malcolm S. Knowles ยังบอกอีกว่า… แรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ในผู้ใหญ่ มาจาก “ประสบการณ์ความต้องการ” และ ความสนใจจะเรียนรู้บนฐานความพึงใจส่วนตนเป็นสำคัญ

คำแนะนำเรื่องแรงจูงใจจึงมีเพียง 2 ประเด็นสำคัญคือ หาแรงจูงใจให้ผู้เรียนด้วยการ “ตระเตรียม” จากผู้สอนโดยไม่ผลักการเกิดแรงจูงใจให้เกิดเองในตัวผู้เรียน… และ แรงจูงใจต้องมีแรงพอจะกระตุ้น “ความต้องการ หรือ Needs” ของผู้เรียนจากภายในตัวผู้เรียน “จนพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง”

ในหนังสือ Gestalt Psychology: An Introduction to New Concepts in Modern Psychology Paperback ของ Wolfgang Kohler บอกไว้ว่า การตระเตรียมมีประโยชน์โดยตรงกับการรับรู้ เรียนรู้และ “คิดออกในภายหลัง” เมื่อผู้เรียนเข้าสู่การเรียนรู้ใน “องค์รวมที่สอง หรือ Second Whole”

The Second Whole หรือ องค์รวมที่สอง

Whole–Part–Whole Learning Model มีรูปแบบการตระเตรียมเพื่อการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ… คำว่า “เป็นระบบ” นี้เองที่บอกชัดเจนว่า สำเร็จได้เมื่อขับเคลื่อนเป็นระบบและล้มเหลวได้เมื่อระบบแปรปรวนรวนเร ความสำเร็จของการใช้ Whole–Part–Whole Learning Model จึงพิจารณาองค์รวมที่สองของระบบอย่างดีเช่นกัน

ประเด็นก็คือ… Whole–Part–Whole Learning Model อ้างอิง Gestalt Psychology ซึ่งโฟกัสการรวมกันได้สูงค่ากว่าชิ้นส่วนที่นำมารวมกัน… เป้าหมายของ Second Whole หรือ องค์รวมที่สองในทางการศึกษาจึงไปไกลกว่าเรียนเพื่อรู้และเข้าใจ… ซึ่งหมายถึงความรู้ “ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

นั่นหมายความว่า… The Second Whole จะทำหน้าที่บูรณาการ “ความรู้เก่าประสบการณ์เก่าแต่ละส่วนเข้ากันและเข้ากับ… ความรู้ใหม่ประสบการณ์ใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้และสังเคราะห์ขึ้นใหม่” สิ่งสำคัญก็คือ คุณค่าที่ได้จาก “ความสัมพันธ์” ของข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ที่บูรณาการในองค์รวมที่สองนี้ ซึ่งจะพาผู้เรียน “เข้าถึงเนื้อหาสาระทั้งหมดอย่างถ่องแท้ หรือ Complete Understanding” ในที่สุด

Wolfgang Kohler อธิบายไว้ในหนังสือ Gestalt Psychology ว่า… ข้อมูลความรู้และประสบการณ์จำนวนมากที่สมอง “ถูกกระตุ้นให้รับรู้และจดจำ” จะถูกดำเนินการให้อยู่ในรูปแบบที่เรียบง่าย ให้เข้าใจและจดจำง่าย… แต่ความเรียบง่ายมหาศาลที่ได้รับจากการกระตุ้นให้รับรู้และจดจำ จะถูกบีบอัดให้ปรากฏเพียงส่วนที่โดดเด่นโดยแรงกระตุ้นดั้งเดิม นั่นหมายความว่า การกระตุ้นจาก First Whole หรือองค์รวมแรก มีผลทางจิตวิทยาการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การรวมกันเป็นองค์รวมที่สอง ผ่านร่องรอยความจำที่มีอยู่เป็นปกติวิสัย

หมายความว่า… ใน Second Whole Process หรือขบวนการสังเคราะห์ความรู้ในองค์รวมที่สองนี้ จะเกิดกับผู้เรียนโดยตรง โดยผู้สอนหรือหลักสูตร ไม่ต้องสนใจการจำโดยละเอียดถูกต้องของผู้เรียน แต่ให้โฟกัสการกระตุ้นข้อมูลความรู้และประสบการณ์ทั้งหมด ให้ผู้เรียนสังเคราะห์รวมองค์ความรู้ขึ้นใหม่เองให้ได้ก็พอ

ในหนังสือ How We Think: A restatement of the relation of reflective thinking to the educative process ของ John Dewey กล่าวถึง การเรียนรู้ผ่านการกระตุ้นผู้เรียนให้สังเคราะห์รวมข้อมูลความรู้และประสบการณ์ในสมองผู้เรียนเองไว้ว่า… การพัฒนาผู้เรียนในแนวทางนี้ ทำให้ผู้เรียนได้เนื้อหาทั้งหมด ไปประดับสติปัญญาอย่างครบถ้วนและเข้าใจอย่างถ่องแท้

The Parts of Whole–Part–Whole Learning Model

Part หรือชิ้นส่วน หรือส่วนต่างๆ ในความหมายภาษาไทยอาจจะฟังดูแปลกๆ ในบางมุมมอง… เอาเป็นว่าผมขอใช้คำว่า “ชิ้นส่วนความรู้ หรือไม่ก็ทับศัพท์ว่า Part” ในการพูดถึง… ประเด็นสำคัญเรื่อง Parts ซึ่งเป็นหัวใจของ Whole–Part–Whole Learning Model ก็คือ “ระบบ” ที่องค์รวมแรก หรือ First Whole จะแจกแจง Parts ซึ่งจะทำให้ “กระบวนการ หรือ Process” ในองค์รวมแรกมีระบบ Whole–Part ที่ผู้สอนต้องดำเนินการ

ส่วนระบบในองค์รวมที่สอง หรือ Second Whole จะมี “กระบวนการ หรือ Process” ของระบบเป็น Part–Whole ซึ่งผู้เรียนจะรับกระบวนการต่อทั้งหมดเช่นกัน

หลักสำคัญคือ “โครงสร้างที่ตระเตรียมอย่างปราณีต” และลำดับ Parts หรือ ชิ้นส่วนความรู้ประกอบแรงโน้มน้าวจูงใจที่เข้าถึง Needs ของผู้เรียน ให้ถึงขั้นการเรียนรู้ของผู้เรียนจะสืบทอด “โครงร่าง หรือ Schema” ขึ้นในสมอง จากโครงสร้างที่ตระเตรียมเป็นองค์รวมแรก… และที่เหลือก็ปล่อยให้ “ระบบ” ผลักดันผู้เรียนเข้าสู่กลไกการเรียนรู้ของสมองตัวเอง จนสังเคราะห์องค์รวมที่สองขึ้นจาก Parts ต้นทาง

ถึงตรงนี้… โดยส่วนตัวผมตีความ Parts ในโมเดลนี้คือ Learning Contents หรือเนื้อหาการเรียน ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งใน Whole–Part หรือ First Whole จึงหมายถึง จิตวิทยาการสอนแบบ Andragogy ที่ผูกรวมกับ Learning Contents เพื่อกระตุกความต้องการของผู้เรียน… ซึ่งผู้เรียนที่ถูก Hook ด้วย First Whole ผ่านจิตวิทยาการเรียนรู้ของสมอง จะสนใจ Learning Contents แต่ละ Parts จนตกผลึกสังเคราะห์ทุก Parts รวมกันไปใช้ประโยชน์… ซึ่งผลลัพธ์การนำความรู้ใหม่ไปใช้ จะเห็นชัดเจนที่การเปลี่ยนแปลง

แนะนำติติงหรือถกแถลงแย้งหนุน… Line: @reder ครับ!

สุดท้าย กับบทความส่งท้ายไตรมาส 2 ของปี 2020… ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามและแลกเปลี่ยนติติงเข้ามาเป็นระยะ… โดยเฉพาะคำติติงและขอคืนบทความเชิงธุรกิจ การตลาดและการพัฒนาตนเอง จากหลายๆ ท่าน… ขอเรียนผ่านพื้นที่นี้อีกครั้งว่า ครึ่งปีหลัง Reder.red จะเกลี่ยสัดส่วนบทความใหม่ ให้ Adult Learning และ Lifelong Learning เฉพาะ 2 วันจันทร์อังคารครับ… วันพุธจะเป็น Self Improvement แนว Soft Skill ซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21… และวันพฤหัสบดีจะเอา Digital Business กลับมาคืน Reder Business Fan อย่างสม่ำเสมอ… วันศุกร์ยังคงเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นแนวร่วม #FridaysForFuture กับ Greta Thunberg เช่นเดิม… วันเสาร์ยังคงเป็น SMEs และ Startup เน้นสำหรับผู้ประกอบการ… และวันอาทิตย์ขอพื้นที่ให้บันเทิงแบบ Reder และเรื่องที่คนเขียนอยากเขียนหนึ่งวันครับ

ขอบคุณที่ติดตาม!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts