วันนี้ยังขอวนอยู่แถวๆ ประเด็นสิ่งแวดล้อมต่ออีกวันน๊ะครับ โดยเฉพาะประเด็น PM 2.5 ที่คุกคามพี่น้องปลายด้ามขวานในวันที่อิสานบางส่วนน้ำท่วม และเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นรอบโลก ดูเหมือเราจะอาศัยอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาหลายแง่มุม…
คำถามก็คือ… เราจะมองหาโอกาสจากปัญหาเหล่านี้ได้มั๊ย?
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในเหตุการณ์วิกฤติต่างๆ ล้วนมีแง่มุมในการทำลายและบั่นทอน ในขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสตามมาอีกหลายอย่าง… กรณีน้ำท่วมที่อิสาน ปัญหาน้ำไหลบ่าท่วมพื้นที่ ไม่นานน้ำก็จะลดเองโดยธรรมชาติของน้ำ… ผลกระทบที่เกิดแม้จะมีมากมายหลายมิติ แต่ไม่มีเรื่อง “ลมหายใจของผู้คน” อยู่ในรายการผลกระทบ… หลังน้ำลดเราน่าจะได้เห็นความคึกคักของตลาดวัสดุก่อสร้าง ที่ผู้คนซื้อหาจับจ่ายเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน และชีวิตประจำวันก็คงเดินหน้าต่อ แม้จะเพิ่งผ่านความเสียหายมาไม่นาน
แต่กับวิกฤติหมอกควันและคุณภาพอากาศ ที่ส่งผลต่อผู้คนไม่ต่างจากน้ำท่วมแผ่นดินไหว เราแทบไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงมากกว่าหน้ากากอนามัยขายดีขึ้น และเครื่องฟอกอากาศขาดตลาดเป็นช่วงๆ
ความพยายามที่จะออกแบบและทดสอบเครื่องฟอกอากาศขนาดยักษ์ แบบที่สร้าง Phototype เป็น Tower ใหญ่ๆ กลางเมืองทั้งในจีน อินเดีย และอีกหลายที่ๆ ยังไม่เปิดเผย ดูจะเป็นความพยายามเดียว ที่หาเจอในการสืบค้นต่างๆ… แต่ข้อเท็จจริงก็คือ วิธีสร้างเครื่องฟอกอากาศยักษ์มาฟอกอากาศเปิดของเมืองหรือชุมชน ไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีคำถามอีกมาก เพื่อมองหาความเป็นไปได้
…แปลตรงๆ ได้ว่า อีกนานมากกว่าที่จะหาวิธีฟอกอากาศที่เป็นพิษและปนเปื้อนได้ด้วยวิธีฟอกอากาศทั้งเมือง
ข้อมูลของ UNICEF รายงานไว้ว่า มีเด็กมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกที่หายใจเอาอากาศพิษเข้าปอดตัวเอง และมีสถิติการเสียชีวิตจากผลกระทบของอากาศสกปรกสูงถึง 600,000 รายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ความตระหนักในปัญหาเรื่องอากาศเป็นพิษจากหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาลของแต่ละชาติ และทุกภาคส่วน ที่ต่างก็มีส่วนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ… ยังไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรม กระทั่งการรณรงค์ของสาวน้อย Greta Thunberg ที่ดึงเอาพลังเด็กๆ ทั่วโลก ลงถนนมาถามหาอากาศดีๆ บรรยากาศดีๆ ให้ลมหายใจของตัวเองและอนาคต… หลายฝ่ายก็ยังเงียบ เหมือนตัวเองไม่ต้องหายใจ
ตรงกันข้าม ผู้ใหญ่กลับเลือกที่จะปกป้องเศรษฐกิจ การผลิตและอุตสาหกรรม มากกว่าจะรีบเร่งจัดการต้นตอและสาเหตุ แล้วลงมือจัดการอย่างเร็วต่อทุกๆ ปัจจัยที่เร่งปัญหาอากาศเป็นพิษ
ประเด็นใหญ่ๆ อย่างควันจากขบวนการผลิตและอุตสาหกรรม ผมค้นเจอเอกสารเผยแพร่ของ IEEE หรือ สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ หรือชื่อเต็มคือ Institute of Electrical and Electronic Engineers… ได้เผยแพร่ข้อมูลชื่อ An Open Framework for Participatory PM 2.5 Monitoring in Smart Cities โดยหน่วยงานชื่อ IEEE Xplore Digital Library ที่มีรายละเอียดมากพอที่นักวิจัยหรือวิศวกรสามารถนำมาต่อยอดจัดการปัญหาได้… แต่กฏหมายและรัฐบาลต้องจริงจัง ชัดเจนด้วย… วางลิงค์ไว้ที่อ้างอิงท้ายบทความครับ ถ้าท่านสนใจ
ส่วนประเด็นเรื่องยานพาหนะ… ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่ต้องบีบคั้นให้ผู้คน หันมาใช้ขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับอากาศและลมหายใจให้มาก ส่วนคนที่สมัครใจจะอยู่กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือเครื่องยนต์เจ็ต ที่เผาออกซิเจนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เอาพลังงาน… ต้องจ่ายแพงกว่าคนอื่น เหมือนโรงงานที่สมัครใจปล่อยควัน จะต้องจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อเดินเครื่องการผลิต
ส่วนปัญหาไฟป่า… ผมเชื่อว่าสามารถหาวิธีดับไฟป่าให้จบได้ภายใน 24 ชั่วโมง แค่นั้นก็จบปัญหาได้ไม่ยาก… แนวทางหนึ่งที่พูดคุยกันในวงสนทนาคือการใช้ฝูงโดรนขนาดเล็ก ขนน้ำ หรือเคมีดับเพลิงเต็มกำลัง บินเข้าโจมตี Hot Spot… ถ้าเป็นโดรนที่บรรทุกน้ำได้ 1 ลิตร การใช้โดรนหนึ่งหมื่นตัวโจมตี Hot Spot แบบ Autopilot ที่มี AI ควบคุม… ผมเชื่อว่าแผนการทิ้งน้ำที่คำนวณทิศทางลมแบบ Real Time บวกกับข้อมูลอะไรอีกมากมายที่ต้องประเมินเพื่อรวมน้ำทุกลิตรเข้าด้วยกันให้ครบหมื่นลิตร แล้วเทใส่เป้าหมายพร้อมกัน… ไฟยังไม่มอดก็ทำซ้ำจนมอดนั่นแหละ… อย่าลืมเอาภาพถ่ายดาวเทียม ตามจับเอาคนที่เข้าป่าแล้วไฟลุก มารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเสียด้วย… หรือไม่ก็ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเขาให้ไม่ต้องเผาป่าทำกินอย่างทั่วถึง และผมคิดว่าควรบูรณาการข้ามรั้วกั้นประเทศให้ได้ด้วย เพราะรั้วอันไหนก็กั้นควันไฟไม่อยู่
เทคโนโลยีโดรนหรือปัญหาหมอกควันและไฟป่า ยังมีข้อมูลเชิงลึกอีกมากโขที่ผมพร้อมแบ่งปัน… ท่านที่สนใจ แอดไลน์ @reder มาคุยกันได้ครับ
อ้างอิง