9 พฤษจิกายน 2019 คือวาระครบรอบ 30 ปี การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ที่กั้นคนเยอรมันออกเป็น เยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออกมาตั้งแต่ปี 1961… กระทั่ง 9 พฤษจิกายน 1989 กำแพงเบอร์ลินก็ถูกทำลายลง และถือเป็นการสิ้นสุดยุคสงครามเย็นที่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20 ทีเดียว
ลำดับเหตุการณ์สำคัญของกำแพงเบอร์ลิน
- 1949 เยอรมนีแยกออกเป็น 2 ประเทศอย่างเป็นทางการ คือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี”(เยอรมนีตะวันตก) และ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี” (เยอรมนีตะวันออก)
- 1952 เยอรมนีตะวันออก ปิดพรมแดนที่ติดกับเยอรมนีตะวันตก แต่ยังเปิดพรมแดนระหว่างเบอร์ลินฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกอยู่
- 13 ส.ค.1961 พรมแดนระหว่างเบอร์ลินฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกได้ปิดลง และกำแพงเบอร์ลินได้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลาชั่วข้ามคืน
- 1987 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เยือนกรุงเบอร์ลิน และเรียกร้องให้นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำโซเวียต รื้อถอนกำแพงเบอร์ลิน
- 4 พ.ย.1989 ประชาชน 1 ล้านคนไปชุมนุมประท้วงที่ อเล็กซานเดอร์พลัทซ์ จัตุรัสหลักของเบอร์ลินตะวันออก หลังการประท้วงดำเนินไปได้ไม่กี่วันรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกได้ประกาศลาออก
- 9 พ.ย.1989 ประชาชนจำนวนมากในเยอรมนีตะวันออกได้ไปรวมตัวกันที่จุดผ่านแดน พร้อมเรียกร้องที่จะข้ามไปยังฝั่งตะวันตก เจ้าหน้าที่พิทักษ์พรมแดนจึงปล่อยให้ผู้คนนับพันข้ามฝั่งเข้าไปยังเบอร์ลินตะวันตก และเริ่มรื้อถอนกำแพงเบอร์ลิน
- 3 ต.ค.1990 เยอรมนีตะวันออกและตะวันตกรวมประเทศกันอย่างเป็นทางการ

ขอบคุณภาพจาก bbc.com

ขอบคุณภาพจาก bbc.com

ขอบคุณภาพจาก bbc.com
ที่มาที่ไปของกำแพงเบอร์ลินเริ่มขึ้นในปี 1961 เมื่อประธานาธิบดีนิกิตา ครุชชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตขณะนั้น ได้สั่งการให้สร้างกำแพงขึ้นระหว่างเบอร์ลินตะวันออกกับเบอร์ลินตะวันตก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนหนีออกจากฝั่งตะวันออก
กำแพงถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วในคืนของวันที่ 13 สิงหาคม 1961 ผู้คนจำนวนมากตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองติดอยู่อีกฝั่งหนึ่งของกำแพง ในขณะที่ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงอยู่ที่อีกฟากหนึ่ง…


ในช่วงแรก กำแพงเบอร์ลินมีสภาพเป็นแนวรั้วลวดหนาม… แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายสภาพเป็นกำแพงคอนกรีตที่แข็งแรง มีหอสังเกตการณ์ และเจ้าหน้าที่ติดอาวุธคอยควบคุม และลาดตระเวนอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผู้ใดข้ามผ่านไปได้

กำแพงเบอร์ลินมีความยาว 155 กม. สูง 4 เมตร และภายในปี 1989 มีหอสังเกตการณ์ 302 แห่งตลอดแนว
กำแพงเบอร์ลินประกอบไปด้วยแนวกำแพง 2 แนวขนานกัน โดยมีช่องว่างตรงกลางตลอดแนวกำแพงทั้งสองฝั่ง จะมีทหารคอยคุ้มกันและเต็มไปด้วยกับระเบิด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนข้ามพรมแดน

กำแพงเบอร์ลินได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่แบ่งแยกยุโรปฝั่งตะวันออกและตะวันตกออกจากกัน จนถูกเรียกขานว่า “ม่านเหล็ก หรือ Iron Curtain”
ผู้นำสหภาพโซเวียตระบุว่า มันเป็นเกราะคุ้มกัน แต่อังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส มองว่ามันเป็นคุกที่จองจำผู้คนไม่ให้หลบหนีออกจากฝั่งตะวันออก
ในช่วงนั้น… มีผู้พยายามข้ามกำแพงแต่ก็ทำได้ยากและเต็มไปด้วยอันตราย
มีประชาชนกว่า 100 คนถูกสังหารขณะพยายามข้ามกำแพงแห่งนี้ตลอดระยะเวลา 28 ปี ระหว่างปี 1961-1989 นอกจากนี้ ยังมีผู้คนอีกหลายร้อยรายที่ถูกสังหารขณะพยายามหลบหนีออกจากเยอรมนีตะวันออกด้วยการข้ามพรมแดนส่วนอื่น ๆ ที่เชื่อมกับฝั่งตะวันตก
ชีวิตในเบอร์ลินตะวันออกเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทางการใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดควบคุมการดำเนินชีวิตของประชาชน
คนในเบอร์ลินตะวันออกที่เคยทำงานในฝั่งตะวันตกต้องตกงาน… ส่วนคนที่มีญาติมิตรอยู่คนละฝั่ง ต่างก็ต้องพลัดพรากจากกัน หลายคนไม่ได้พบบุคคลผู้เป็นที่รักอีกจนกระทั่งกำแพงเบอร์ลินได้ล่มสลายลง
ช่วงทศวรรษที่ 1980… เริ่มมีการประท้วงกรณีสหภาพโซเวียตใช้อำนาจควบคุมหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันออก… ผู้คนในเยอรมนีตะวันออกต้องการมีเสรีภาพเพิ่มขึ้นในการเดินทาง การดำเนินชีวิต และการแสดงความคิดเห็น พวกเขาจึงได้ออกไปชุมนุมเรียกร้องขอเสรีภาพเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการเดินทางออกนอกประเทศ
หลังจากชาวเยอรมนีตะวันออกหลายร้อยคนหลบหนีผ่านประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฮังการี และเชโกสโลวาเกีย รัฐบาลเบอร์ลินตะวันออกก็พบว่าเป็นการยากขึ้นทุกขณะที่จะหยุดยั้งเสียงเรียกร้องของประชาชนให้ปล่อยพวกเขาข้ามไปฝั่งเยอรมนีตะวันตก
ในวันที่ 9 พฤษจิกายน 1989… ผู้นำเยอรมนีตะวันออกได้ประกาศผ่านทางโทรทัศน์ว่าจะเปิดพรมแดนที่กั้นฝั่งตะวันออกและตะวันตก… ประชาชนจำนวนมากจากเยอรมนีตะวันออกพากันไปยังกำแพงเบอร์ลิน และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดรั้วกั้น
เจ้าหน้าที่พิทักษ์พรมแดนไม่สามารถควบคุมคลื่นมวลชนได้ จึงจำใจต้องปล่อยให้พวกเขาข้ามไปยังเยอรมนีตะวันตก
กว่าที่ประเทศเยอรมันนีจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมและสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้ มีประชาธิปไตยเต็มใบ มีความเป็นอยู่พร้อมทุกๆด้าน… จากประเทศที่เป็นชนวนเหตุของสงครามโลก… จากประเทศที่มีสงครามแบ่งแยกดินแดน… แต่แล้วความสามัคคีก็เกิดขึ้น ชาวเยอรมัน ก้าวข้ามความล้มเหลว ความโหดร้าย และ หลอมหลวมเป็นหนึ่งเดียว
กำแพงเบอร์ลิน เหลือเพียงซากที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว กับเรื่องเล่าที่มนุษย์ชาติต้องจดจำบทเรียนนี้
เรื่องเล่ากำแพงเบอร์ลินวันล่มสลายในปี 1989 ถูกบันทึกผ่านหลายรูปแบบ รวมทั้งบทเพลงอันเป็นอมตะ จากวงร๊อคสายเลือดเยอรมันระดับตำนานอย่าง Scorpians… และเพลงนั่นคือเพลง Wind Of Chang หรือ สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
มีเรื่องเล่าในหมู่สาวก Scorpions ว่า… เพลง Wind of Change แต่งขึ้นในช่วง 1989 ที่ Scorpions ไปแสดงคอนเสิร์ทที่มอสโค… แรงบรรดาลใจตอนที่ไปเยือนรัสเซียนี่เองที่เป็นต้นกำเนิดของเพลงอมตะเพลงนี้
แน่นอนว่า… เหตุการณ์ทางการเมืองหลายอย่างในห้วงเวลานั้น รวมทั้งกระแสการรวมเยอรมันที่พุ่งถึงขีดสุดคือแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงๆ นี้ขึ้น… ซึ่งการได้ไปรัสเซียของวงดนตรีที่สมาชิกของวง เป็นนักเสรีนิยมสุดโต่ง และเห็นภาพความยุ่งยากวุ่นวายของจักรวรรดิโซเวียตที่กำลังล่มสลายจากผลของเผด็จการคอมมิวนิสต์
เหตุการประวัติศาสตร์คร่าวๆ ในช่วงการทำลายกำแพงเบอร์ลิน… ถูกบันทึกไว้ในคลิป Scorpions – Wind Of Change (Official Music Video) ค่อนข้างครบถ้วนแบบงานศิลป์ชั้นเลิศ… ส่วนอัลบั้ม Wind of Change ออกวางขายปี 1991 ในขณะที่ Single เพลง Wind of Change ดังทะลุชาร์ตทั่วโลกไปแล้ว

เนื้อหาเพลง Winds of Change ของ Scorpions ถือเป็นเพลงที่แต่งและร้องให้กับชัยชนะของชาวเยอรมันที่ทำลายกำแพงเบอร์ลินลง… และหลายครั้งมีการใช้เพื่อสื่อถึงการยุติสงคราม หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่หมายถึงความกล้าหาญที่จะลุกมาเปลี่ยนบางสิ่งให้ดีขึ้น โดยทำลายอุปสรรคที่ขวางกั้น… ที่หลายครั้งคือความขลาดเขลา ที่เพียงหาญกล้าก็ก้าวข้ามวังวนเดิมๆ ที่ไร้อนาคตออกมาได้
วันนี้ขอไม่พูดถึงเนื้อเพลง… ไม่แปลความหมายหรืออะไรมากกว่านี้ นอกจากสุภาษิตจีนบทที่ว่า…
เมื่อสายลมของการเปลี่ยนแปลงพัดมา… บางคนเลือกจะก่อกำแพงเอาไว้ซุกหลบแรงลม… แต่บางคนสร้างกังหัน!
อ้างอิง