World Water… แหล่งน้ำสะอาดของโลก #SustainableFuture

โลกของเราได้ชื่อว่าเป็นดาวแห่งน้ำที่มีปริมาณมากถึงขนาดต้องใช้พื้นที่ 3 ใน 4 ส่วนของพื้นผิวโลกเป็นแหล่งน้ำ… แต่ข้อเท็จจริงอันย้อนแย้งในวันที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 8,000 ล้านคนในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งรายงานจากสหประชาชาติกลับพบว่ายังมีประชากรโลกที่เสียชีวิตจากการดื่มน้ำไม่สะอาดในปี 2022 ที่ผ่านมาในจำนวนที่น่าตกใจ ถึงแม้จะไม่ใช่ข้อมูลใหม่แต่อย่างใด แต่ก็เป็นข้อมูลที่ยืนยันชัดว่า… ปัญหาแหล่งน้ำสะอาดบนโลกยังขาดแคลนอย่างชัดเจน ซึ่งเป้าหมายความยั่งยืนเป้าที่ 6 เรื่องน้ำสะอาด และ ระบบสุขาภิบาลที่ถูกสุขอนามัย… นอกจากจะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากแล้ว ยังถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำจริงๆ กันให้ได้… แม้แต่ในประเทศที่หาน้ำสะอาดได้ง่ายแต่ต้องซื้อกินลิตรละสิบบาทยี่สิบบาทก็ตาม

ข้อเท็จจริงก็คือ… แม้โลกของเราจะเป็นแหล่งน้ำมากถึง 70% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ร้อยละ 97.3% ของน้ำทั้งหมดเป็นกลุ่มน้ำเค็ม… ข้อเท็จจริงเรื่องแหล่งน้ำจืดที่ใช้อุปโภคบริโภคได้จริงจึงมีไม่ถึง 3% และ ในจำนวนเพียง 3% ที่ว่าก็ไม่ได้เป็นแหล่งน้ำสะอาดที่สามารถใช้บริโภคได้ทั้งหมด… โดยมีตัวเลขอ้างอิงจากการสำรวจพบสัดส่วนน้ำสะอาดที่เราสามารถใช้น้ำบริโภคได้จริงเพียง 10.71% ของปริมาณน้ำจืดบนโลกเท่านั้น… แถมแหล่งน้ำจืดที่มีอยู่ยังเกิดมลภาวะ และ การปนเปื้อนทำให้น้ำสะอาดลดน้อยลงไปอีกกว่าที่ควรจะเป็นมาก

ข้อมูลจาก National Geographic Asia ภาษาไทยอ้างรายงานจากกรมควบคุมโรค ปี พ.ศ.2563 ชี้ว่า… คนไทยป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากการดื่มน้ำไม่สะอาดถึง 1 ล้านคน และ เสียชีวิต 4 คน ในช่วงฤดูร้อน และ รายงานครึ่งปีแรก พ.ศ. 2565 พบเสียชีวิต 2 ราย ถึงแม้การเสียชีวิตจะน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขการเสียชีวิตทั้งโลก แต่ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าประเทศไทยเองยังมีประชากรที่เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค และการเกิดโรคอุจจาระร่วง ก็พบในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่บางพื้นที่แล้ง และ ขาดแคลนน้ำ

ปัญหาเรื่องโลกขาดแคลนน้ำได้ปรากฏชัดขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาซึ่งบางประเทศถึงขั้นกำหนดวัน Day Zero คือ “วันหยุดจ่ายน้ำประปาแก่ครัวเรือน” เช่น ที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ที่เกิดปัญหาภัยแล้ง ต้องหยุดจ่ายน้ำ และ จัดสรรให้ประชาชนไปเข้าแถวรับส่วนแบ่งน้ำ จนองค์การสหประชาชาติ แสดงความกังวลว่าหากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำยังดำเนินต่อไปภายในไม่กี่ปีอาจเกิดสงครามแย่งน้ำกันได้

ส่วนรายงานสถานการณ์น้ำจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nation Population Fund หรือ UNFPA ชี้ว่า… ในขณะที่ความแห้งแล้งลุกลามไปทั่วทวีปแอฟริกา ไร่นาของผู้คนในทวีปนี้ได้แปรสภาพเป็นทะเลทราย และ กินพื้นที่มากขึ้นทุกปี จนองค์การสหประชาชาติต้องก่อตั้งองค์กรต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หรือ United Nations Convention to Combat Desertification… ซึ่งในวันที่ 22 มีนาคม ปี 1992 ได้มีการประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศบราซิล และ ได้มีการกำหนดวันอนุรักษ์น้ำขึ้น ซึ่งเป็นการประกาศว่าโลกของเรากำลังอยู่ในยุคไม่มั่นคงของทรัพยากรน้ำ

แล้วเราเหลือน้ำสะอาดไว้อุปโภคบริโภคเท่าไหร่? 

ข้อมูลจาก National Geographic Asia ระบุว่า… หากแบ่งตามแหล่งน้ำที่มนุษย์นำมาใช้อุปโภคบริโภคได้นั้น มักจะนำมาจาก 2 แหล่ง โดยปริมาณมากที่สุดคือ น้ำผิวดิน หรือ Surface Water และ น้ำใต้ดิน หรือ Ground Water… 

แหล่งกักเก็บน้ำผิวดินแหล่งใหญ่คือทะเลสาบน้ำจืดทั้งหลาย โลกเรามีทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดคือ ทะเลสาบสุพีเรีย หรือ Lake Superiorในอเมริกาเหนือ… ทะเลสาบวิคตอเรีย หรือ Lake Victoria ในแอฟริกา… ทะเลสาบฮูรอน หรือ Lake Huron ในอเมริกาเหนือ… ทะเลสาบมิชิแกน หรือ Lake Michiganในสหรัฐอเมริกา.. ทะเลสาบแทนกันยีกาในแอฟริกา หรือ Lake Tanganyika และ ทะเลสาบไบคาล หรือ Lake Baikal ในรัสเซีย ซึ่งทะเลสาบไบคาลยังเป็นทะเลสาบที่ลึกที่สุดในโลกและมีปริมาณน้ำสำรองมากที่สุดในโลกประมาณ 5,670 ลูกบาศก์ไมล์ เมื่อเทียบกับทะเลสาบสุพีเรียที่จุน้ำ 2,900 ลูกบาศก์ไมล์

สำหรับแหล่งน้ำใต้ดิน หรือ แหล่งน้ำบาดาล ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญของประชากรโลกนั้น… ในการประชุม World Water Week 2022 ที่จัดขึ้นที่กรุงสตอร์กโฮม ประเทศสวีเดนได้ให้ความสนใจกับแหล่งน้ำบาดาล และ บรรจุเรื่อง “น้ำบาดาล กับ การจัดการอย่างยั่งยืน” เป็นหัวข้อการประชุม นั่นเพราะประชากรโลกส่วนใหญ่เข้าถึงแหล่งน้ำบาดาลจำนวนมาก อีกทั้งน้ำบาดาลเองนอกจากจะพบได้ทั่วไป แต่ก็สร้างปัญหาได้มากถ้าการจัดการไม่ดีเช่นที่ เกิดปัญหาแผ่นดินทรุดที่หมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ที่สาเหตุหนึ่งมาจากการสูบน้ำบาดาลจำนวนมาก เป็นต้น

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *