ข้อมูลเรื่องโลกร้อนขึ้น สำหรับมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราท่าน ดูเหมือนการรับรู้ก็เพียงเพื่อได้รับรู้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเห็นข้อมูลจากที่ไหนหรือได้ฟังจากปากใครก็ตาม…
การเอาข้อมูลโลกร้อนท่านั้นท่านี้มาเผยแพร่ หลายกรณีจึงเสียเวลาเปล่าในความรู้สึกของหลายๆ ท่าน รวมทั้งผมด้วย และหลายสิบปีที่ผ่านมา ทุกความพยายามเรื่องหยุดหรือชะลอภาวะโลกร้อน ก็ยังชัดเจนว่าไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นในทางเทคนิค… แม้รายงานล่าสุดจาก Goddard Institute for Space Studies หรือ GISS ของ NASA ซึ่งยืนยันว่า… ปี 2020 ที่ผ่านมา โลกยังคงร้อนขึ้นเกือบเท่าปี 2016 อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่บริบทหลายอย่างแตกต่างอย่างมีนัยยะ
แต่ในอีกมุมหนึ่ง… ก็ถือว่าโลกมีระบบเฝ้าระวังตรวจสอบและเก็บข้อมูลโลกร้อนค่อนข้างชัดเจน เชื่อถือได้ และมีการใช้ข้อมูลพูดคุยขับเคลื่อนระดับนานาชาติในหลายแง่มุม… โดยเฉพาะแง่มุมในการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ระหว่างประเทศ แม้จะเป็นแง่มุมห่างไกลจากประเด็นสภาพภูมิอากาศและโลกร้อน แต่ก็ยังเป็นสิ่งแวดล้อมเดียวกันอยู่นั่นเอง
รายงานจาก ScienceDaily.com หัวข้อ 2020 tied for warmest year on record, NASA analysis shows ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า… ทั้ง GISS ของ NASA และหน่วย NOAA หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration ได้เผยแพร่สรุปรายงานไว้ว่า… ปี 2020 เป็นปีที่ร้อนขึ้นที่สุดเป็นอันดับสองในบันทึกของ NOAA รองจากปี 2016 นิดหน่อยเท่านั้นเอง
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้เสนอความเห็นในกรณีที่อุณหภูมิโลกยังไม่พุ่งสูงทำลายสถิติปี 2016 น่าจะมาจาก “การเผาป่าและไฟป่าทั่วโลก” สร้างควันและละอองลอยสูงขึ้นไปถึง 18 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน… ทำให้บดบังแสงอาทิตย์ที่เคยส่องถึงพื้นจนความร้อนลดลงระดับหนึ่ง… และยังมีประเด็นการระบาดของโควิดทั่วโลก ที่ทำให้กิจกรรมการเดินทางของมนุษย์ลดลงอย่างมีนัยยะ ส่งผลต่อการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานเพื่อการเดินทาง ซึ่งลดลงอย่างมากกว่าหลายปีก่อน
และการวิเคราะห์มากมาย ชี้ให้เห็นตรงกันว่า… ต้นตอใหญ่ที่สุดของอุณหภูมิโลกแปรปรวน จนเป็นวงจรแบบปีต่อปีมักจะมาจากปรากฏการณ์ El Nino-Southern Oscillation หรือ ENSO ซึ่งเป็นวัฏจักรการแลกเปลี่ยนความร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติระหว่างมหาสมุทรและบรรยากาศ
ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศของ NASA กว่า 26,000 สถานีทั่วโลก ครอบคลุมน่านฟ้า ในมหาสมุทรและบนภาคพื้น เพื่อสร้างรายงานและติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวพื้นของโลก หรือการทำ GISTEMP… โดยมีดาวเทียม Aura ของ NASA พร้อมติดตั้งเครื่องมือชื่อ Atmospheric Infrared Sounder หรือ AIRS ช่วยยืนยันข้อมูลในรายงานของ GISTEMP… และยืนยันตรงกันว่า ตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นสถิติสูงที่สุด ตั้งแต่มีการตรวจวัดอุณหภูมิอากาศ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเล รวมทั้งการสังเกตการณ์ทางอวกาศอื่นๆ ยังสะท้อนให้เห็นสภาพโลกที่ร้อนขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปด้วย
นอกจากนั้น NASA และอีกหลายหน่วยงานได้ตื่นตัว หาแนวทางและพัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อการสังเกตและศึกษาระบบธรรมชาติที่เชื่อมต่อกันของโลก ด้วยระบบการบันทึกข้อมูลระยะยาวพร้อมเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูงเพื่อดูว่าโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ท่านที่สนใจข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวของ NASA และระเบียบวิธีทางสถิติ สามารถตรวจสอบและศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://data.giss.nasa.gov/gistemp ครับ
ประเด็นที่ผมอยากพูดถึงในกรณีอุณหภูมิโลกในวันนี้ มีเพียงเรื่อง ศักยภาพของมนุษย์ในการติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ที่สะท้อนผ่านอุณหภูมิ… ไม่ต่างจากการหาวิธีวัดอุณหภูมิร่างกายของเราว่ามีไข้หรือไม่มี… กรณีการพัฒนาระบบข้อมูลที่แม่นยำเชื่อถือได้โดยหน่วยงานและองค์กรที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างจริงจัง และสื่อสารออกไปถึงระดับนโยบายที่ควรเชื่อถือและใส่ใจอาการตัวร้อนของดาวโลก ให้เข้าใจตรงกันว่า… อุณหภูมิที่สูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส เหมือนเราตัวร้อนจาก 36.5 องศาเซลเซียส ไปเป็น 37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งคงตัวร้อนนอนซมเพราะพิษไข้ไปแล้ว… มันสำคัญและควรต้องจริงจังมากกว่า จัดงานให้ผู้นำประเทศต่างๆ ไปยืนเข้าแถวทำท่าแปลกบนเวทีถ่ายรูปร่วมกัน แล้วก็แยกย้ายบ้านใครบ้านมันจนไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง… กรณีปรากฏการณ์ El Nino-Southern Oscillation หรือ ENSO ซึ่งยังเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์ยังเอาชนะและหาทางเอาชนะไม่ได้ก็จริง แต่การศึกษาติดตามด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และมีผู้มีอำนาจเห็นประโยชน์จากข้อมูลที่ศึกษาติดตามจนพบบางอย่างในอนาคต… มนุษย์คงท้าทายธรรมชาติได้ดีขึ้น… เว้นแต่มนุษย์จะเอาตัวรอดใครมันตามยถากรรมเท่านั้นเอง
#FridaysForFuture ครับ!
References…
- https://www.sciencedaily.com
- Features Image: Photo by Markus Spiske from Pexels