แนวคิดของเสียเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste จากของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้ง จากทุกกิจกรรมการบริโภคของสังคมมนุษย์ ซึ่งเห็นเป็นร่องรอยของเหลือมากมายก่ายกอง… อันหมายถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจที่ติดอยู่กับของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งเหล่านั้น… มากมายก่ายกองไปด้วย
ความเคลื่อนไหวเพื่อ “หาทางใช้ประโยชน์จากของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้ง” จึงสำคัญและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนกลยุทธ์บนแนวคิดสิ่งแวดล้อม ซึ่งของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดที่มนุษยชาติจำเป็นต้องหาทางจัดการให้ได้
แนวคิดในการจัดการของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งที่โดดเด่นที่สุดก็คือ แนวคิด 3Rs ซึ่งประกอบไปด้วย… Reduce หรือ ลดของเหลือส่วนเกินและขยะลง… Reuse หรือ นำของเหลือส่วนเกินและขยะกลับไปใช้ซ้ำ และ Recycle หรือ นำของเหลือส่วนเกินและขยะกลับไปใช้ใหม่
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในศตวรรษที่ 21 นี้… แนวคิด 3Rs ถูกพัฒนาเป็นวิสัยทัศน์ร่วมระดับโลกภายใต้ยุทธศาสตร์ของเสียเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste ซึ่งมีแนวปฏิบัติชัดเจนและหวังผลได้ในทุกกลุ่มเป้าหมาย… โดยกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจที่สุดก็คือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าปริมาณมาก หรือ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมนั่นเอง
Dr. Paul Palmer ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธาน Zero Waste Institute ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเคมีอุตสาหกรรม อันเป็นของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปัญหาในการจัดการตามแนวคิด 3Rs มากที่สุด ซับซ้อนที่สุดและส่วนใหญ่ยังอันตรายที่สุดด้วยได้แนะนำในเบื้องต้นเอาไว้ว่า
วิธีจัดการของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งจากอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากวิธีกำจัดของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งจากชุมชนมากนัก โดยเฉพาะในระดับแนวคิดซึ่งยังคงมีรูปแบบการดำเนินการผ่านเทคโนโลยีสะอาด หรือ Cleaner Technology หรือ CT ในห่วงโซ่อุปทานที่ผ่านการวิเคราะห์ แล้วเติมเต็มช่องว่าง ที่ยังขาด CT อยู่ด้วยวิทยาการและความคิดสร้างสรรค์ที่อาจจะต้องพยายามเพิ่มขึ้นอีกไม่มาก โดยใช้องค์ความรู้ทางโครงสร้างเคมีและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง มาจัดการของเสียอันตรายให้ลดอันตรายลงจนสามารถนำไปเข้าขบวนการ 3Rs ได้โดยไม่มีอุปสรรคนั่นเอง
กรณีของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายละเอียดเฉพาะในห่วงโซ่ของแต่ละกิจกรรมการผลิตนั้น… หลายประเทศทั่วโลกจะใช้การออกนโยบาย “ให้โรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งจากโรงงานของตัวเอง” แล้วดูแลกันผ่านกลไกกำกับดูแลผ่านกฏหมายหลายฉบับ

ในประเทศไทย… การตื่นตัวเรื่องของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมได้รับการผลักดันในระดับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านนโยบาย BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเห็นเป็นการเกิดขึ้นและเติบโตของอุตสาหกรรมแนวคิดใหม่ที่ผลิตของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งจากโรงงานออกมาน้อยลง และ ยังสามารถนำกลับเข้าวงจร “สร้างคุณค่า” ให้ของเหลือส่วนเกินและขยะรอทิ้งจากโรงงานได้ใกล้เคียงร้อยเปอร์เซนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนกลุ่มของเสียอันตราย หรือ Hazardous Waste จากโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่จะอันตรายจากคุณสมบัติทางเคมีนั้น… ในปัจจุบันก็มีแนวทางและเทคโนโลยีในการจัดการของเสียอันตรายหลายรูปแบบให้เลือกใช้ และ โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุอันตรายในขั้นตอนการผลิต หรือ มีของเหลือส่วนเกินหรือขยะรอทิ้งที่เป็นของเสียอันตราย หรือ Hazardous Waste เอง… ก็มีการตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้น ถึงแม้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเก่าแก่มากมายที่ยังมีของเสียอันตราย หรือ มีคลังวัตถุอันตรายรอใช้ในขบวนการผลิตอีกมาก… ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาและอะไรอีกไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลง
ส่วนท่านที่อยากทราบว่า การทำ Zero Waste ในโรงงาน หรือ แม้แต่ในองค์กรควรจะเริ่มที่ตรงไหนก่อน… โดยส่วนตัวจะแนะนำให้ทำ Waste Audit Report มาดูก่อน ถ้าไม่มีอะไรซับซ้อนอยู่ในมือมาก่อนก็คงไม่ยากที่จะจัดการต่อจากนั้น… แต่ถ้าพบอะไรซับซ้อนจาก Waste Audit Report ถึงขั้นต้องหาตัวช่วยจากภายนอก… ก็ค่อยว่ากันครับ
References…